Teacher’s Diary (2014)
คิดถึงวิทยา
คะแนน
โกดังหนัง
หนัง Feel Good ที่ครบทุกรสชาติ
ถ่ายทอดหัวอกความเป็นครูภูธรได้น่าประทับใจ
ผ่านการแสดงที่น่ารักของพลอยและบี้
คำคมจากภาพยนตร์
“บางครั้งการคิดถึงใครสักคน จากที่ไกลๆ มันก็ทำให้เรามีความสุข ได้อย่างไม่น่าเชื่อ”
เรื่องย่อ
ครูแอน ได้เข้าไปสอนที่โรงเรียนเรือนแพ ที่อยู่ห่างไกลความเจริญและด้วยความเหงาบวกกับความห่างไกลเทคโนโลยีรวมถึงสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้เธอต้องระบายความรู้สึกผ่านไดอารี่เล่มหนึ่ง จนเวลาผ่านไป ครูสอง เข้ามาสอนต่อและได้พบกับสมุดบันทึกที่ครูแอนได้เขียนและลืมทิ้งไว้ เมื่อเปิดอ่านทำให้ครูสองเกิดความรู้สึกดีดีกับครูแอนแม้ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน ซึ่งการที่ครูสองได้อ่านบันทึกของครูแอนนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกและเหมือนได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่มีความเข้าใจความรู้สึกที่ตรงกัน แม้ว่าทั้งสองจะไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อนแต่การที่ครูสองได้อ่านบันทึกของครูแอน ทำให้ครูสองอยากจะพบหน้าของครูแอนซักครั้ง
หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร
สำหรับ คิดถึงวิทยา คือหนังแนวดราม่าโรแมนติก ที่หยิบประเด็นครูผู้สอนหนังสือในต่างจังหวัดมาเล่าเรื่องให้เห็นถึงการเรียนการสอนของเด็กต่างจังหวัดที่แทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสแวดล้อมดีๆ เนื้อหาสอดแทรกความสำคัญของคำว่าครูลงไป ทำให้เราได้เห็นความทุ่มเทของครู ที่สั่งสอนถ่ายทอดความรู้เพื่อให้เด็กเติบโตไปเป็นคนที่ดี นำความรู้ไปพัฒนาชีวิต สิ่งที่หนังสื่อสารออกมาคือภาพที่แตกต่างจากสังคมการเรียนการสอนของครูในยุคปัจจุบัน หากใครดูแล้วประทับใจแสดงว่าคุณคงเข้าใจความหมายที่แท้จริงของครูที่เสียสละและถูกจะเป็นผู้ให้ด้วยความเต็มใจ
- สายหนังรักโรแมนติก
- สายหนังที่ชอบโทนเรื่องแบบธรรมชาติ
- สายหนังที่ชอบการเรียนการสอน
รีวิว / สรุปเนื้อหา
ถ้าเอาดีเทลมาร่วมกันคราวๆ หนังมีไดอารี่ของคนเหงาๆ2 คนที่มาเขียนระบาย คนหนึ่งเบื่อชีวิตที่มีระเบียบต้องการออกจากความวุ่นวายที่เต็มไปด้วยกฏเกณฑ์ อีกคนที่เลือกมาอยู่เพราะไม่อยากเป็นคนตกงาน ภายใต้โรงเรียนเรือเรือนแพกลางเขื่อนที่เงียบสงบ ไม่มีครูที่ไหนเต็มใจมาสอน หนังจึงค่อยๆนำเสนอการเล่าเรื่องของตัวละครหลัก ที่มาอยู่ในสถานที่เดียวกัน ทำหน้าที่เหมือนกัน แตกต่างกันที่ช่วงเวลา พาไปรู้จักครูแอนและครูสอง ไดอารี่เล่มเดียวบิ้วอารมณ์ให้ตัวละคร 2 คนอยากรู้จักกัน
บทหนังเชื่อมโยงกันไปหมด ทั้งสุข เศร้า เหงา รัก แฮปปี้ ยอมรับเลยว่าบทหนังดีมากๆ ยิ่งดูยิ่งเข้าใจหัวอกคนเป็นครูจริงๆ เรารู้สึกสนุกที่บทบาทครูสองเขาไม่มีความเข้าใจในเชิงวิชาการเลยสักนัด แต่กลับมาเรียนรู้ชีวิตคำว่า”ครู” จริงๆ ไปตามเด็กมาเรียนหนังสือ เพียรพยายามที่จะสอนมอบความรู้ให้เด็กด้วยความเต็มใจ เลือกเป็นผู้ให้ หลายๆฉากที่ได้สัมผัสผมมีความสุขมาก คือรับรู้ว่าครูแบบนี้นับจะตายไปจากการศึกษาไทยเสียแล้ว ไม่ได้สักแต่ว่าสอนในตำรา หรือมาทำหน้าที่สอนไปงั้นๆ ไม่ได้ใส่ใจนักเรียนแบบครูยุคใหม่ คือมีสาระและคอเมดี้ที่สอดแทรกลงไป การที่ร่วมแสดงกับเด็กทำให้เขามีเสน่ห์หลายๆฉากทำให้ใครต่อใครอมยิ้มมาก โดยเฉพาะซีนจำลองรถไฟกลางน้ำ ไอเดียนี้สร้างสรรค์ดีแหะ
ด้านครูแอน จะเป็นพาร์ทที่แตกต่างจากครูสองอย่างสิ้นเชิง เป็นคุณครูที่เสียสละ เจ้าอารมณ์ ไม่ค่อยแคร์กฏระเบียบ เป็นครูสาวที่ชีวิตมีประเด็นให้เจอตลอดเวลา ทั้งเรื่องเพื่อนร่วมงานที่ไม่สบอารมณ์ แฟนที่ไม่เข้าใจอะไรเธอเลยสักนิด ชีวิตไม่มีความสุข ยกเว้นเรื่องเดียวคือการสั่งสอนเด็กในโรงเรียนเรือแพ ที่เธอเองผ่อนคลายที่สุด ตรงนี้เองคือสิ่งที่คุณพลอย ตีความคาแรกเตอร์ครูสาวภูธรให้เห็นภาพแม่พิมพ์ของชาติได้น่าประทับใจ ยิ่งหลงรักตัวละครนี้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อหนังตัดต่อภาพลำดับ 2 เหตุการณ์ได้ลงล็อค สื่อวสารให้คนดูเข้าใจมันจึงทำให้เราอินกับเนื้อหาทั้งหมด
เกร็ดจากหนังเรื่องนี้
- พลอย เฌอมาลย์ เป็นคนที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์แต่ต้องมารับบทครูที่ถนัดวิชานี้
- หนังถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมคเป็นเวอร์ชั่นบอลลีวูดของอินเดีย ในชื่อ Notebook
- บี้ สุกฤษฎิ์ สร้างความประทับใจให้"ต้น" นิธิวัฒน์ ธราธร ผู้กำกับในการเจอกันบทโต๊ะอาหารครั้งแรก จึงได้รับบทนำเป็นครูสอง
- พลอย เฌอมาลย์ และ บี้ สุกฤษฎิ์ ตอบรับบทนำโดยที่ไม่ได้อ่านบทหนังเรื่องนี้มาก่อน
- หนังไปถ่ายทำที่เขื่อนแก่งกระจาน ในเพชรบุรี โดยสร้างแพขึ้นมาใหม่ 2 หลัง