รวมหนังโหดเลือดสาด Park Chan-Wook สู่ผลงานล่าสุดตัวแทนออสการ์เกาหลี

หากจะพูดถึงชื่อ Park Chan-Wook แล้ว คงไม่มีคอหนังเกาหลีคนไหนไม่รู้จัก ด้วยความที่ผลงานของเขามักมีเอกลักษณ์เฉพาะ ส่วนหนึ่งก็มาจากคนเเขียนบท และ Production Director คู่ใจ จนทำให้งานที่ผ่านมาของเขา ล้วนเป็นงานที่น่าจดจำ และมักเป็นที่พูดถึงมาโดยเสมอเมื่อออกฉาย นอกจากนี้ หลายๆ เรื่องมันก็ยังเดินหน้ากวาดรางวัลในเวทีต่างๆ มาแบบรัวๆ อีก จนไม่แปลกนักหากทุกคนจะจับตามองผลงานของเขาโดยตลอดเมื่อมีผลงานใหม่ๆ ออกมา

อย่างล่าสุดก็นับว่าเป็นโชคดีที่มีค่ายหนังเอาผลงานล่าสุดของเขาอย่าง Decision to Leave เข้ามาฉาย พร้อมกับได้มือเขียนบทคู่ใจอย่าง Seo-kyeong Jeong คู่มาด้วย เลยไม่แปลกที่มันจะกลายเป็นหนังที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งของปีนี้ แถมทางเกาหลีเองก็ตัดสินใจส่งหนังเรื่องนี้เป็นตัวแทนเข้าชิงออสการ์ในรางวัลสาขาต่างประเทศยอดเยี่ยมด้วย ดังนั้นถึงคุณอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ Park Chan-Wook มาก่อน แต่ถ้าได้ดู List นี้แล้ว รับรองว่าน่าจะต้องมีหนังเขาผ่านตามาบ้างแน่นอน

Joint Security Area (2000) – สงครามเกียรติยศ มิตรภาพเหนือพรมแดน

JSA หรือ Joint Security Area เป็นเขตปลอดทหารระหว่างประเทศเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ แต่ดันเกิดเหตุทหารเกาหลีเหนือได้ถูกสังหาร 2 นายในบริเวณนั้น แต่เรื่องราวก็ดันมีสองมุม เพราะทางฝั่งเกาหลีเหนืออ้างว่าทางฝั่งทหารเกาหลีใต้บุกเขาไปยิงคาป้อม ในขณะที่ผู้รอดชีวิตจากฝั่งเกาหลีใต้เองก็บอกว่าพวกเขานั้นเป็นเชลยที่พยายามหนีออกมา จนต้องหาผู้มาตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นกันต่อไป

อีกหนัง Genre Anti-War อย่างแท้จริง เพราะมันพูดถึงระดับย่อยอย่างทหารที่เป็นเบี้ยในสงครามที่เกิดขึ้น จากการเมือง และผู้มีอำนาจ ทั้งๆ ที่คนตัวเล็กๆ ในเรื่องต่างๆ ไม่ได้มีความขัดแย้งเหมือนกับนระดับใหญ่ เพราะหากถอดหมวกความเป็นทหารของสองสัญชาติออก พวกเขาก็นับเป็นคนเกาหลีเหมือนๆ กัน ที่สามารถเป็นเพื่อนกันได้ ซึ่งบทของหนังเองก็ยังสร้างความสลับซับซ้อนจากความไม่ปกติของการสืบสวนอีก เพราะทั้งสองคำให้การก็อาจจะไม่จริงทั้งคู่ด้วยซ้ำไป จึงนับว่าหนังที่เฉียบคมมากๆ และทำให้ต้องจดจำชื่อของ Park Chan-Woio เอาไว้เลย

Vengeance Trilogy (2002-2005) – ไตรภาคล้างแค้น

ไตรภาคของการแก้แค้นของ Park Chan-Wook ที่ประกอบไปด้วย Sympathy for Mr. Vengence ที่เล่าถึง ริว หนุ่มใบ้หูหนวก ที่อยู่กับพี่สาวที่เป็นโรคไต จนทำให้เขาตัดสินใจไปลักพาตัวลูกเศรษฐีมาเพื่อหวังเรียกค่าไถ่ แต่ดันเกิดความผิดพลาดทำให้เด็กเสียชีวิต จนทำให้เกิดการล่าล้างแค้นตามมา โดยในเรื่องนี้ จะเน้นในส่วนของตัวละครที่สีเทาทุกตัว เพราะมันทำให้เราเห็นใจทุกคนที่เป็นผู้เฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้น จนเกิด Conflict ในใจระหว่างอยู่ในตลอดเวลา ที่แม้ว่าจะเห็นบางตัวละครทำผิด แต่ก็ยังแอบเห็นใจอยู่ไม่น้อย

เรื่องที่ 2 น่าจะเป็นเรื่องที่คนรู้จักมากสุดอย่าง Old Boy กับเรื่องราวของ โอแทสึ ชายที่ถูกลักพาตัวมาแล้วขังเอาไว้ในห้องแห่งหนึ่งถึง 15 ปีเต็มๆ จนเขาแทบจะเสียสติ และไม่รู้เหตุผลว่าใครคือคนทำ และทำกับเขาแบบนี้ทำไม จนทำให้เขาเริ่มออกตามหาความจริง ว่าใครที่ทำแบบนี้กับเพื่อให้ชดใช้ให้สาสม หากนับแล้วเรื่องนี้น่าจะเป็น Masterpiece ของ Park Chan-Wook สำหรับหลายๆ คน ด้วยบทที่โคตรเฉียบ ความรุนแรงแบบหฤหรรษ์ อันนำไปสู่ตอนจบอันตราตรึงที่ไม่สามารถลืมออกไปจากหัวได้เลย

และเรื่องปิดไตรภาคที่ได้ตัวเอกหญิงอย่าง Lady Vengeance ที่เล่าถึง ลี กิมจา หญิงสาวที่ติดคุก ในข้อหาลักพาตัวและฆาตกรรมเด็กชาย จนทำให้เธอต้องติดคุกอยู่ถึง 13 ปี โดยที่เธอไม่ได้เป็นคนทำ จนเมื่อเธออกมาได้ เธอจึงตัดสินใจจะออกล้างแค้นไอพวกคนที่ทำให้เธออยู่ในสภาพนี้ พร้อมกับตามหาลูกสาวของเธอไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็มีกระแสดี ส่วนหนึ่งเพราะได้ Lee Young-AE นักแสดงชื่อดังจาก แดจังกึม มาร่วม พร้อมกับเปลี่ยนตัวละครเป็นผู้หญิง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างซอฟลงเลย แถมยังเติมพลังให้กับหนังอย่างเปี่ยมล้นจนนับเป็นการปิดไตรภาคการแก้แค้นที่น่าชื่นชมมากจริงๆ

I’m Cyborg but That’s ok (2006) – ถึงจะบ้า ก็บ้ารัก

ยองกุน หญิงสาวที่คิดว่าตัวเองนั้นเป็นมนุษย์ดัดแปลงหรือไซบอร์ก เลยได้พยายามเอาตัวเองไปชาร์จไฟกับแบตตารี่ จนทำให้เธอถูกส่งเข้าไปในโรงพยาบาลบ้า จนทำให้เธอได้พบกับ อิลซุน หนุ่มที่มีโรคชอบขโมยของ ทำให้ทั้งคู่นั้นต้องคอยช่วยเหลือกันให้มีชีวิตรอดในโลกของความเป็นจริงจากความไม่ปกติและอยู่ในโลกจินตนาการของคนสองคน 

อีกหนังที่แทบจะพลิกโฉมการทำหนังเลือดสาด ล้างแค้นของ Park Chan-Wook ไปเลย เพราะหน้าหนังดูเป็นหนังโรแมนติคแบบหวานๆ มากๆ แต่เป็นหนังของเขาทั้งที มีหรือจะธรรมดา เพราะสุดท้ายแล้วมันก็หนีไม่พ้นความโหด และความนองเลือดแบบเบาๆ อยู่ดี รวมถึงโลกในหนังก็ช่างโหดร้ายกับตัวละครทั้งสองเหลือเกิน ทำให้แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะดูเป็นหนังที่เบาสุดในแง่กายภาพของเฮียปาร์คแล้ว แต่จริงๆ มันกลับมีประเด็นที่บาดใจ และการพยายามหนีจากบางตัวตนเพื่อไขว่คว้าบางอย่างได้อย่างน่าสนใจเหมือนกัน

Thirst (2009) – นักบวชผี ปีศาจแวมไพร์

ซุงฮยุน บาทหลวงที่อาสาเข้าโครงการทดลองทำวัคซีนป้องกันไวรัสอีฟ ที่แพร่ในเฉพาะหมู่คนที่เป็นผู้ชาย แต่จากความผิดพลาด มันกลับส่งผลทำให้เขานั้นเสียชีวิตลง และได้ฟื้นกลับขึ้นมาเป็นแวมไพร์ ทำให้เขานั้นกลายเป็นความหวังและปาฏิหาริย์ของผู้คน โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าเขาตัองระงับความกระหายไว้มากขนาดไหน จนทำให้เขาต้องพยายามดำรงชีวิตจากเลือดผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตเท่านั้น

อีกหนังที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำต่อมาจาก Oldboy ซึ่งตีนิยามคำว่า Thirst ออกมาได้สนุกมาก ซึ่งการเล่นคำนี้ ก็เป็นได้ทั้งการกระหายเลือดของตัวเอก และความกระหายในด้านต่างๆ ของตัวละครอย่างเข้มข้น แถมด้วยแนวหนังที่เข้ามือของ Park Chan-Wook ในแง่ความเป็นทริลเลอร์เลือดสาด ก็ทำให้แต่ละฉากมันดูทรงพลัง และเต็มไปด้วยสีสันอย่างเต็มที่ รวมถึงบทเองก็ไม่ได้ตรงไปตรงมานัก ยังมีลูกล่อลูกชนให้ตามกันได้อย่างสนุก นับเป็นผลงานชั้นเยี่ยมอีกเรื่องของผู้กำกับเลย

Stoker (2013) – อำมหิตพิศวาสร้อน

อินเดีย สโตกเกอร์ สาววัยรุ่นที่ต้องสูญเสียทั้งพ่อและเพื่อนสนิทไปจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในตอนที่เธอวัย 18 ปีเท่านั้น จนทำให้เธอนั่นต้องอาศัยอยู่กับแม่เพียงลำพังที่บ้าน จนกระทั่งการเข้ามาของ ชาร์ลี พี่ชายของพ่อที่ไม่ได้ติดต่อมานานก็เข้ามาในชีวิตของพวกเขา เริ่มต้นจากที่มาเข้าร่วมงานศพ และมาขออาศัยอยู่ที่บ้านของเธอและแม่ จนกระทั่งเธอก็ได้มีความรู้สึกหลงใหลในตัวลุงคนนี้มากขึ้น พร้อมกับความอันตรายที่ตามมาด้วย

น่าจะเป็นหนังที่ซอฟที่สุดในตระกูลหนังสายโหดของเขาแล้ว เพราะในแต่ละเรื่องที่ผ่านมาดูเหมือนหนังของเขาจะเต็มไปด้วยความรุนแรงหนักหน่วง แต่ในเรื่องนี้ปรับสู่โหมดระทึกขวัญจิตวิทยาแบบเต็มตัว ทำให้คนดูที่หวังจะเห็นเลือด บาดแผล และความรุนแรงอาจจะไม่ได้สิ่งนั้นกลับมาเลย แต่กลับเป็นความนิ่ง สุขุมแทน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เสน่ห์มันน้อลงขนาดนั้น เพราะใครที่ชอบสำรวจจิตใจตัวละคร แล้วเสียวสยองไปความนึกคิดของตัวละครแล้ว ก็ถือว่าสอบผ่านเลย อีกทั้ง 3 ดาราหลักก็ยังแบกความซับซ้อนทางอารมณ์ของตัวละครได้ดีมากๆ ด้วย

The Handmaiden (2016) – ล้วงเล่ห์ลวงรัก

ในปี 1930 ช่วงที่เกาหลียังตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ซุกฮี เด็กสาวคนหนึ่งได้เข้ามาทำงานเป็นสาวใช้ของคุณหญิง ฮิเดโกะ โดยมี โคซุกิ ผู้เป็นลุงคอยบงการเป็นเจ้าของชีวิตเธออยู่ แต่ความจริงก็เริ่มเปิดเผย เพราะแท้จริงแล้วฐานะของ ซุกฮี คือนกต่อของ ฟูจิวาระ ชายหนุ่มที่หวังเข้ามาแต่งงานกับ ซุกฮี เพื่อเอาสมบัติ แต่ ซุกฮี กับ ฮิเดโกะ ดันมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกันเสียก่อน จนทำให้การทรยศ หักหลังเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการจึงเกิดขึ้น

แม้จะเป็นหนังที่แปะป้าย 18+ ไว้ตอนที่เข้าไทย เพราะฉาก Love Scene และฉากโป๊เปลือยที่ค่อนข้างอล่างฉ่างไม่น้อย แต่ทว่าตัวหนังเองก็มีดีพอที่จะไม่ต้องใช้ส่วนนั้นมาเป็นจุดขายได้ เพราะบทในเรื่องนี้ถูกถักทอขึ้นมาอย่างซับซ้อน แต่ละตัวละครล้วนมีเสน่ห์และจุดมุ่งหมายเป็นของตัวเอง ทำให้ยากจะคาดเดาว่าเรื่องราวสุดท้ายแล้วจะจบลงทางไหน ซึ่งด้วยความที่หลังพลิกไปมา ก็ยิ่งชวนลุ้นชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นอีกหนังเกาหลีออีกเรื่องที่ทำออกมาได้ดีมากๆ ในทุกๆ ทาง จนทำให้เวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่งผ่านไปเร็วเหลือเกิน

Decision to Leave (2022) – ฆาตกรรมรักหลังเขา

แฮจุน ตำรวจสายสืบมือดีที่ได้รับมอบหมายให้สืบสวนคดีหนึ่ง โดยมี แฮจุน เป้นชายเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติอยู่บนภูเขา จนทำให้เขาได้พบกับ ซอแร อดีตภรรยาของผู้เสียชีวิต ซึ่งเมื่อเริ่มสืบสวน เขากลับพบความไม่ชอบมาพากลบางอย่างเกี่ยวกับเธอคนนี้ และเธอเองก็เป็นผู้ต้องสงสัยอันดับต้นๆ ของการสืบสวน แต่เมื่อยิ่งสืบลึกลงไปเท่าไร ก็ดูเหมือนว่าเขากลับติดบ่วงที่จะหลงใหลในตัวเธอมากขึ้นเท่านั้น

หนังเกาหลีชั้นดีที่เป็นตัวแทนออสการ์ปีนี้ หลังจากที่ได้เดินหน้าไปฉายในเทศกาลเมืองคานส์มาแล้ว และได้กระแสตอบรับที่ดีเลย หากใครชื่นชอบผลงาน Park Chan-Wook แล้วนั้น นี่คือโปรแกรมทองของสัปดาห์นี้ที่ไม่ควรพลาดเลย