The Shoplifter (2018)

ครอบครัวที่ลัก

The Shoplifter Poster
9/10

คะแนน
โกดังหนัง

หนังญี่ปุ่นที่ตั้งถามกับนิยามของคำว่าครอบครัวออกมาได้ถึงใจ ผ่านการเล่าเรื่องและการแสดงชั้นดี ได้ทั้งความอบอุ่นและหดหู่ปวดใจไปในเวลาเดียวกัน

หมวดหมู่ : Crime Drama
สัญชาติ : Japanese
กำกับโดย : Hirokazu Koreeda
ความยาว : 2 ชั่วโมง 1 นาที
นักแสดงนำ : Lily Franky, Sakura Andô, Kirin Kik

คำคมจากภาพยนตร์

ครอบครัวชิบาตะ อีกหนึ่งครอบครัวหาเช้ากินค่ำ ที่ต้องเผชิญกับความยากจน ประกอบไปด้วย ฮัตสุเอะ คุณยายแสนใจดีประจำบ้าน, โอซามุ และ โนบุโย คู่สามีภรรยา ที่ทำงานแรงงาน, อากิ สาวน้อยในบ้านที่มีอาชีพขายบริการ และ โอซามุ เด็กน้อยที่เติบโตมากกับการลักเล็กขโมยน้อย ตามคำสอนของคนในบ้าน โดยแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีความลับของตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเขาก็ได้พบกับ ยูริ เด็กสาวตัวน้อยที่ถูกครอบครัวทอดทิ้งกลับมาที่บ้าน เสมือนเป็นสมาชิกคนใหม่ในครอบครัว

เรื่องย่อ

ครอบครัวชิบาตะ อีกหนึ่งครอบครัวหาเช้ากินค่ำ ที่ต้องเผชิญกับความยากจน ประกอบไปด้วย ฮัตสุเอะ คุณยายแสนใจดีประจำบ้าน, โอซามุ และ โนบุโย คู่สามีภรรยา ที่ทำงานแรงงาน, อากิ สาวน้อยในบ้านที่มีอาชีพขายบริการ และ โอซามุ เด็กน้อยที่เติบโตมากกับการลักเล็กขโมยน้อย ตามคำสอนของคนในบ้าน โดยแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่มีความลับของตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเขาก็ได้พบกับ ยูริ เด็กสาวตัวน้อยที่ถูกครอบครัวทอดทิ้งกลับมาที่บ้าน เสมือนเป็นสมาชิกคนใหม่ในครอบครัว

หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร

สำหรับ The Shoplifter นั้น เหมาะกับคนที่ชอบดูหนังญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่รักหนังของ โคเรเอดะ ที่มักพาคนดูไปสำรวจถึงเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ ก่อนที่จะลากคนดูมายำด้วยความเศร้า หดหู่กับเนื้อแท้บางอย่างอยู่เสมอ ซึ่งกับเรื่องนี้ เรามองว่ามันเป็นมุมที่มีความซอฟ และปลอบปะโลมจิตใจมากกว่า แม้ว่าจะมีความเจ็บปวดแฝงอยู่ก็ตาม แต่ในบางช่วงมันก็ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นไปกับคำว่าครอบครัวได้อย่างบอกไม่ถูก ทำให้ใครที่ชอบหนังอย่าง Air Doll, Nobody knows, Our little sister ที่เป็นหนังดีๆ ของเขาแล้ว ยังไงก็ต้องชอบเรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

  • สายหนังญี่ปุ่นชิงรางวัล
  • สายหนังเนิบช้าซึมลึก
  • สายหนังดราม่าครอบครัว

รีวิว / สรุปเนื้อหา

อีกหนึ่งหนังดีของ Hirokazu Koreeda ที่ทั้งเขียนบท และกำกับเอง ตัวหนังเดินหน้ากวาดรางวัลมากมายนับตั้งแต่วันออกฉาย สั่งสมชื่อเสียงมาเรื่อยจนได้ไปเป็นตัวแทนออสการ์ของประเทศญี่ปุ่นในปี 2019 แต่ก็น่าเสียดายที่ปีนั้นดันไปชนกับหนังสายแข็งอย่าง Roma ที่เป็นตัวเต็งหวังไปถึง Best Picture ด้วยซ้ำ ก็เลยทำให้ The Shoplifter ต้องพ่ายไปอย่างน่าเสียดาย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของมันลดลงแต่อย่างใด  เพราะมันก็ยังคงความเป็นหนังของ Hirokazu Koreeda ที่เล่าถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างบาดลึกถึงทรวง รวมถึงการแกะไปถึงสภาพจิตใจของตัวละครได้ย่างลึกซึ้งจนน่าชื่นชม

ในด้านของเนื้อเรื่องก็ถ่ายทอดออกมาได้ดีมากๆ หนังพาเราสำรวจแต่ละตัวละครในเรื่อง ถึงที่มาที่ไป และสภาพจิตใจของพวกเขา จนทำให้เราเองก็ผูกพันกับทุกๆ คนในเรื่อง เข้าชีวิตในแบบที่พวกเขาเป็น ซึ่งแม้หนังจะเล่าถึงครอบครัวบ้านคนจน แต่หนังก็ไม่ได้เน้นให้ตัวละครฟูมฟายมานั่งโทษสิ่งต่างๆ ในทางกลับกันพวกเขาก็ยังใช้ชีวิตปกติในแบบที่มันควรจะเป็น และดูไม่มีตัวละครไหนที่หวังอะไรกับชีวิตมากกว่านี้ นอกจากการอยู่กันเป็นครอบครัวด้วยกัน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่พวกเขาโหยหาแต่ต้องการที่สุด ซึ่งจุดเด่นของหนังที่สุดก็คือการใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปให้กับตัวละคร ทำให้เราไม่สามารถพบคนที่เรียกว่าคนดีได้เต็มปากเลยในเรื่อง มีเพียงแต่ตัวละครสีเทาที่ต่างทำทุกอย่างเพื่อหลีกหนีปัญหาบางอย่าง และเอาชีวิตรอดไปวันๆ

ในแง่ของคนที่ไม่ได้มาสายหนังญี่ปุ่นอาจจะมองว่ามันอืดอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับที่ดูหนังญี่ปุ่นมาเป็นปกติก็คงเรียกว่าอันนี้แหละ คือ Pace ปกติที่หนังญี่ปุ่นมันใช้ในการเล่าเรื่อง เพื่อให้ทุกอณูของหนังค่อยๆ ซึมลึกเข้าไปถึงจิตใจของคนดู ก่อนที่จะทำให้มันฝังลงไปในใจหลังได้ดูจนจบเพราะในช่วงท้ายของหนังนั้น หลังจากที่มันพยายามเล่าแบบไปเรื่อยๆ มีทุกข์บ้างสุขบ้างตามประสาชีวิต กลับต้องเจออะไรที่เรียกว่าพีคในพีค เสมือนเป็นหมัดน็อคที่หนังปล่อยมาแบบไม่ทันตั้งตัวให้กระแทกไปถึงทรวงในของคนดูได้อย่างแท้จริง จนเมื่อดูจบมันอาจจะทำให้เราต้องมานิยามความหมายของคำว่าครอบครัวกันใหม่เลยทีเดียว

เกร็ดจากหนังเรื่องนี้

  • ชื่อเรื่องต้นฉบับของหนังอย่าง Manbiki Kazoku แปลได้แบบตรงตัวว่า Shoplifting Family หรือเป็นครอบครัวที่ลักเล็กขโมยน้อยนั่นเอง ซึ่งในชื่อไทยก็เอามาตั้งชื่อได้สวยงาม ตรงนิยามมากๆ ว่า “ครอบครัวที่ลัก”
  • แม้ว่าจะไม่ได้รางวัลออสการ์มาครอง แต่ Shoplifters ก็เป็นหนังญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลปาล์มทองคำมาครอง หลังจากเรื่อง Unagi ตั้งแต่ในปี 1997 ซึ่งก็นับว่าห่างกันเป็น 10 ปีเลย