5 เหตุทำไมคนไทย ถึงเลือกดูหนังไทยน้อยลงเรื่อยๆ
เหมือนว่าช่วงที่ผ่านมานั้น หนังไทยหลายเรื่องก็อยู่ในช่วงตกระกำลำบาก ทั้งที่ใช้ทุนสร้างไปสูงมาก แต่สุดท้ายก็กลับทำไม่ถึงเป้า เพราะหากนับตั้งแต่หลังช่วงโควิดมา หนังไทยที่รายได้เกินหลัก 10 ล้าน 20 ล้าน ก็ยังนับว่ามีน้อยมากๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ตลาดหนังไทยยังมีความคึกคักอยู่ไม่น้อย และมีโอกาสได้เห็นหนังระดับ 100 ล้านแตกอยู่เรื่อยไป ทั้งค่ายใหญ่ ค่ายเล็ก ในขณะที่ปัจจุบันนั้นแม้ว่าจะเป็นค่ายใหญ่ที่คนดูประจำแค่เอาให้คืนทุน ก็ยังถือว่าหืดขึ้นคอเลย
ซึ่งปัจจัยที่กระทบก็มีทั้งในส่วนของคุณภาพของหนังเอง กับพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป รวมถึงระบบการควบคุมที่น้อย จนทำให้ตลาดหนังไทยกลายเป็นซบเซาแบบขั้นสุด ส่วนคนทำหนังเองก็ไม่ค่อยกล้าที่จะทำอะไรฉีกมาก เพราะกลัวว่าจะขายไม่ได้ เลยอาศัยการใช้ดาราใหญ่ๆ มาดึงคนดูเอา ในขณะที่หนังต่างชาติเรี่มฟื้นตัว จากการที่มีหนังใหญ่เข้ามาเยอะขึ้น จนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่ทำให้หนังไทยนั้นโตได้ยากเลยทีเดียว เดี๋ยวเราจะมาลองไล่เรียงกันสักหน่อยว่า เพราะเหตุใดหนังไทยถึงอยู่ในสภาพนี้กันแน่ ลองมาคุยกัน
1. หลายคนบอกว่า มีแต่หนังแบบเดิมๆ ไม่มีความแปลกใหม่
สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือความซ้ำซากวนเวียนของหนังแบบเดิมๆ ที่ออกมาเรื่อยๆ หรือพูดง่ายๆ สำหรับหนังไทยก็มักจะเป็นหนังแนวที่ทำง่าย คลอดออกมาง่าย อย่างหนังตลก กับหนังผี ที่พล็อตเรื่องแต่ละอันก็ดูเหมือนจะไม่ต่างกันสักเท่าไรนัก อย่างหนังแบบ อีเรียมซิ่ง หรือบัวผันฟันยับ ก็จัดอยู่ในหมวดเดียวกันแบบที่เห็นมาบ่อยครั้งแบบไม่ต้องสงสัย
ยิ่งในช่วงหลังๆ แนวที่มีมากที่สุดก็คือการเอา Genre ตลก มารวมกับสยองขวัญ แต่ผลที่ได้แต่ละอันกลับมีปัญหามากขึ้นไปอีก เพราะสุดท้ายหนังกลับไม่ได้ไปสุดในสักทาง แล้วยังชวนสับสนเข้าไปด้วย โดยกลุ่มหนังแบบนี้เมื่อปีก่อนก็ได้แก่ ทวงคืน, ผ้าผีบอก, แดง พระโขนง หรือ พี่นาค 3 (แต่เรื่องนี้ผลตอบรับค่อนข้างดีมากๆ) ที่ดูจบแล้วก็น่าจะทำให้หลายคนขยาดกับแนวนี้ไปเลยเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งค่ายใหญ่อย่าง GDH เอง ที่ปีก่อน ก็มีหนังอย่าง OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ ที่เป็หนสไตล์ค่ายมากๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พล็อตมันก็คงวนอยู่กับเรื่องคนแอบรัก คนแอบชอบ ไม่ต่างอะไรจากหลายเรื่องที่อาจเคยเห็นมาแล้ว
2. ถึงจะมีความแปลกใหม่ แต่บทก็ยังไม่ละเอียด
แต่จะว่าไปในปีที่ผ่านมาก็เป็นปีที่มีหนังไทยค่อนข้างอยากทดลองอะไรใหม่ๆ เยอะอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างค่ายเนรมิตฟิลม์ ที่หลังจากเปิดตัว 4 Kings ได้อย่างน่าสนใจแล้ว ก็เข็นหนังตามมา 3 เรื่องลงในปีนี้ทันที อย่าง Leio โคตรแย้ยักษ์, 100 ขา, คืนหมีฆ่า ซึ่งส่วนตัวยอมรับว่าแต่ละเรื่องของเขาตอนเปิดตัวดูน่าสนใจมาก เพราะเราอาจจะยังไม่เห็นหนัง Monster ไทย หรือแนว Slasher มากนัก แต่พอถึงเวลาจริง หนังกลับละเลยเรื่องบทไปอย่างเสียดาย เพราะทุกเรื่องต่างมีบทที่ชวนเกาหัว และไดอาล็อกที่แปลกมากๆ จนสุดท้ายความใหม่ก็กลายเป็นส่วนเล็กๆ ที่ไม่สามารถชดเชยกับคุณภาพได้
ซึ่งจริงๆ ต้องขอบคุณความกล้าในการสร้างความแปลกใหม่ เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นการลงทุนที่เสี่ยงหากคนไม่เปิดใจรับ และยิ่งต้องทำหนังที่ใช้ CG เพิ่มคุณภาพไปอีกก็ยิ่งลงทุนเยอะ แต่ส่วนที่ต้องปรับปรุงเป็นหลักยังไงก็ควรจะเป็นเรื่องบทก่อนจริงๆ ที่ถ้ายกระดับไปได้ส่วนอื่นๆ ก็น่าจะตามมาได้ไม่ยาก และเชื่อว่าคนจะเริ่มเปิดใจกับความแปลกใหม่ขึ้นมาเอง
3. เทียบกับค่าตั๋วแล้ว คนมองว่าหนังใหญ่คุ้มกว่า
ในปีที่ผ่านมามีหนังใหญ่เข้ามาเยอะพอสมควร โดยเฉพาะหนังที่เป็นระดับ Blockbuster ต่างๆ ทำให้หากเดือนนั้น หรือในสัปดาห์นั้นๆ ถ้าจะต้องเลือกดูหนังได้สักเรื่องสองเรื่อง เมื่อเทียบแล้วคนก็อาจจะอยากดูหนังใหญ่ๆ ลงทุนเยอะๆ อลังการๆ แบบ Top Gun: Maverick หรือแบบ Avatar 2: Way of Water มากกว่า แม้ว่าจะไม่ได้ไม่ชอบหนังไทย แต่ด้วยค่าตั๋วอันแสนแพงที่เท่ากันแล้วนั้น คนก็มักเลือกหนังที่ใหญ่กว่าอยู่ดี
ซึ่งค่าตั๋วโรงหนังนี่แหละ ที่มาเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่หนังไทยที่ได้รับผลกระทบ แต่หนังต่างชาติเล็กๆ ในโรงก็มีสภาพไม่ต่าง เพราะเมื่อคนเทียบกับหนังใหญ่แล้ว ด้วยค่าตั๋วเท่ากันก็ย่อมเลือกฟอร์มยักษ์ไว้ก่อนเสมอ ทั้งๆ ที่คุณค่าของหนังนั้น อาจจะไม่ได้อยู่ที่ทุนสร้างเลยก็ได้ แต่เชื่อว่าถ้าหนังไทยออกมาได้ถูกปาก มีคุณภาพจนบอกต่อแล้วแมสได้ ปรากฏการณ์แบบพี่มากพระโขนง ก็อาจจะมีมาให้เห็นอีกได้เหมือนกัน
4. ฉายแล้วขายไม่ดี ถูกลดรอบจะไม่เหลือโรง
สำหรับเรื่องนี้มองได้ทั้งสองแง่มุม ว่าหนังที่คนดูน้อยๆ นั้น สมควรที่จะถูกตัดรอบไปไหม เพราะทุกวันนี้ โรงหนังก็มีการปรับผังตลอดนับตั้งแต่วันแรกที่หนังออกฉาย ทางโรงเองก็จะเริ่มดูแล้วว่า เรื่องไหนที่ดูทำเงินได้ หรือไปต่อได้ และเรื่องไหนที่ดูทรงแล้วไม่น่ารอด ภายในช่วงสุดสัปดาห์นั้นเอง เราอาจจะเห็นหนังบางเรื่องลดลง หรือแย่ไปกว่านั้นก็คือ อาจจะหายออกไปจากรอบฉายเลยก็ได้
สิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยกับบรรดาหนังเล็กๆ หรือหนังไทยที่ไม่เป็นกระแส อย่างล่าสุดก็ วัยอลวนฮ่า ที่ทางผู้สร้างต้องออกมาเรียกร้องกันเลยทีเดียว ว่าแทบไม่เหลือรอบฉายแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ยังประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงไม่น้อย ว่าโรงหนังทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ก็จะมีทั้งฝ่ายที่มองว่า หากหนังไม่มีคนดูเปิดรอบไปก็ยังคงไม่มีคนดู โรงหนังก็น่าจะปรับตัวตาม Demand และ Supply แต่อีกมุมก็คือเป็นการตัดโอกาสที่หลายคนจะไปชมหนังเรื่องนี้แม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยๆ ก็ตาม แต่หากเกิดเป็นของดีที่สุดท้ายยังบอกปากต่อปากได้ ก็จะเสียโอกาสไปเช่นกัน
5. ลง Streaming ไว ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน
อันนี้อาจจะเป็นหัวใจหลักเลยก็ได้ ที่ทำให้คนดูหนังไทยในโรงน้อยลง เพราะการมาของ Streaming ไม่เพียงแต่ทำให้โรงหนังสะเทือนเท่านั้น แต่บรรดาหนังสเกลที่ไม่ใหญ่จนให้ความรู้สึกว่าต้องดูโรง ก็จะถูกเก็บเอาไว้เป็นตัวเลือกไว้ดูที่บ้านอยู่เสมอ และยิ่งยุคนี้ที่ Streaming เอาหนังไทยเข้ามาไวมากๆ อย่างล่าสุด Face of Anne หรือ OMG รักจังวะ..ผิดจังหวะ ก็มาลงเร็วมากๆ
และจุดหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเมื่อใดที่หนังเหล่านี้เข้ามาฉาย ก็มักจะติด Trend อันดับต้นๆ อยู่เสมอ นั่นหมายความว่าจริงๆ แล้ว ยังมีคนดูหนังไทยอีกเป็นจำนวนมาก ที่รอโอกาสได้ดูตอนที่เข้า Streaming โดยที่คิดว่าไม่ต้องรีบไปดูที่โรงก็ได้อยู่จำนวนหนึ่งเลย เพราะถ้าสังเกตจริงๆ กระแสหนังไทยทุกวันนี้ จะมาจากตอนลง Streaming ไปแล้ว ไม่ใช่ตอนที่เข้าโรง และหนังจะถูกพูดถึงเป็นวงกว้างมากกว่าช่วงที่ยังฉายอยู่ในโรงเสียอีก