Fast&FeelLove_00

สำรวจโลกกีฬา Stack ให้มากขึ้น ก่อนไปดู Fast & Feel Love หนังใหม่พี่เต๋อ นวพล

เรียกได้ว่าสร้างกระแสได้ไม่น้อยเลย สำหรับภาพยนตร์ไทยเรื่องล่าสุดของ พี่เต๋อ นวพล อย่าง Fast & Feel Love ที่ได้คนสนใจกันตั้งแต่ตอนเปิดตัว ว่านี่มันคือหนังอะไร (วะ!?!) เพราะสิ่งที่พี่เต๋อออกมาบอก ก็คือมันเป็นหนังแอคชั่น แต่ใน Teaser แรก กลับเต็มไปด้วยฉากล้อเลียนหนังแอคชั่นดังๆ เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น Taken, 4 Kings หรือแม้แต่ชื่อเรื่องที่ถอดแบบชื่อและ Font มาจากหนัง Fast & Furious กันแบบชัดๆ เลย

ซึ่งในตัวอย่างเต็มถึงทำให้เราเห็นว่าหนังมันเกี่ยวกับอะไรมากขึ้น กับตัวละครเอกอย่าง เกา ที่เป็นนักกีฬา Stack ที่ชีวิตมุ่งมั่นอย่างมากที่จะพัฒนาตัวเองให้เร็วขึ้นกว่าเดิมแค่เสี้ยววิก็ยังดี จนทำให้แฟนสาวของเขาที่คอยอยู่ซัพพอร์ทและอยู่เคียงข้างมาตลอดนั้นทนไม่ได้จนต้องบอกเลิก จนทำให้ชีวิตติดสปีดของเขาต้องเคว้งคว้างเป็นครั้งแรก โดยสิ่งที่น่าสนใจในหนังไม่ใช่แค่เพียงความแปลกใหม่ของโทนเรื่องเท่านั้น แต่ยังเป็นการหยิบเอากีฬา Stack ที่ไม่ฮิต เอามาเป็นส่วนประกอบหลักของหนังด้วย เพื่อให้อินกับหนังมากขึ้น โกดังหนังจึงอยากพาทุกคนไปสำรวจโลกของกีฬา Stack ว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง แล้วมันแข่งกันแบบไหนกัน?

Sport Stacking จุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่กลายมาเป็นกีฬา

จุดกำเนิดของ Stack นี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1981 ที่ Boys & Girls Club ที่รัฐ California ชายที่ชื่อว่า Wayne Godinet นั้นได้คิดค้นกิจกรรม Stack ขึ้นมา จากการที่เห็นเด็กๆ นั้นเหนื่อยมาจากการที่เล่นกีฬาแบบหนักๆ มาแล้ว เลยหากิจกรรมเบาๆ ให้เด็กเล่นกัน โดยเริ่มต้นจากให้เด็กๆ นั้นแข่งกันต่อแก้วกระดาษติดๆ กันให้ได้ไวที่สุด แต่กลายเป็นว่าฮิตเฉยเลย แล้วเด็กๆ ก็ชอบเล่นกันมาก เขาเลยค่อยๆ อัพเกรดจากแก้วกระดาษมาเป็นแก้วพลาสติคแทน และเจาะรูที่ก้นแก้ว เพื่อให้การเสียบแก้วต่อกันง่ายขึ้น 

แถมไม่จบแค่นั้น หลังจากที่เห็นความฮิตของมัน Wayne เลยเปิดบริษัทตัวเองที่ชื่อว่า Karango Cupstack Co. ซะเลย โดยบริษัทนี้ ก็ผลิตแก้วกระดาษแบบเจาะรูหลากหลายสี จนมีลูกค้ามาซื้ออยู่จำนวนไม่น้อย จนเขาก็เลยลองจัดแข่งขึ้นมา ชื่อว่า National Cupstacking Championship ขึ้นมา จนเกิดแชมป์คนแรก แล้วได้ไปออกรายการ TV จนเริ่มมีคนสนใจมากขึ้นไปอีก

จะเล่น Stack ต้องมีกฏอะไรบ้าง? จะเริ่มทั้งทีเอาให้มีมาตรฐาน

ในส่วนของอุปกรณ์แม้ว่าจะดูเหมือนมีอะไรไม่เยอะ แต่การแข่ง Stack นั้นต้องมีกระดานจับเวลาไว้ด้วย ซึ่งลูกเล่นของมันก็คือจะมีที่ให้ผู้เล่นนั้นวางมือทั้งสองข้างเอาไว้ แล้วพอยกมือขึ้นมา ตัวจับเวลาก็จะเริ่มทำงาน และให้ผู้เล่นได้ทำการจัดเรียง Stack เมื่อเสร็จแล้วก็ค่อยเอาทั้งสองมือมาวางที่เดิมเวลาก็จะหยุดลง ส่วนแก้วนั้นส่วนมากก็จะทำมาจากพลาสติคที่มีรูที่ก้นแก้วอยู่ที่ประมาณ 1-4 รู เพื่อให้เวลาที่เสียบต่อกันจะได้ไม่ฝืด นอกจากนี้ยังมีแก้วฝึกที่ทำมาจากเหล็กอีกด้วย เพราะการฝึกหนักๆ มาแล้ว พอมาใช้พลาสติค จะเบาและทำได้ไวขึ้น

กฏการเล่นของ Stack แบบ Offcial จากทาง WSSA (World Sport Stacking Association) จะมี 3 รูปแบบเรียงกันดังนี้

  1. 3-3-3: การใช้ 9 Cups โดยจะแบ่งเป็น 3 กอง กองละ 3 Cups โดยผู้แข่งจะต้องทำการหยิบแต่ละกองออกมาเรียงเป็น 3 Cups (2 เป็นฐาน อีก 1 ไว้ข้างบน) จากนั้นวนเก็บทุกอัน 

สามารถดูวิธีได้ตาม Link นี้ https://www.youtube.com/watch?v=NeklKtk1Ypg

  1. 3-6-3: การใช้ 12 Cups โดยวิธีการจะคล้ายๆ แบบ 3-3-3 แต่ต่างกันที่ตรงกลางจะต้องวาง 6 Cups แทน (3 เป็นฐานชั้น 1, มี 2 ที่ชั้น 2 และ 1 ที่ชั้น 3) จากนั้นก็วนเก็บทุกอันเหมือนเดิม 

สามารถดูวิธีได้ตาม Link นี้ https://www.youtube.com/watch?v=OjEH3ugV6mM

  1. Cycle: เริ่มต้นจาก 3-6-3 จากนั้นวนเก็บเพื่อตั้งเป็นกอง 6-6 จากนั้นตั้ง เป็น 1-10-1 แล้วค่อยวนเก็บเป็น ให้กลับมาเป็น 3-6-3 แบบเก็บแล้ว

สามารถดูวิธีได้ตาม Link นี้ https://www.youtube.com/watch?v=HTQsJZdnSgI

การแข่งขันครั้งใหญ่ มีชื่อประเทศไทยอยู่บ้างหรือเปล่า?

การเล่น Stack ไม่ใช่แค่กิจกรรมเล่นๆ เพราะทุกวันนี้ก็มีการแข่งระดับโลก World Sport Stacking Championshop ที่จัดโดย WSSA (World Sport Stacking Association) ที่ทั่วโลกจะส่งตัวแทนแต่ละประเทศมาเข้าร่วมแข่งขัน โดยมีกติกาแบบที่ชัดเจนว่า ต้องใช้แก้วในแบบที่ได้มาตรฐาน และมี StackMAt เอาไว้จับเวลาด้วย ซึ่งในการแข่งนั้นก็จะมีการอัดวิดีโอ และใช้กรรมการ 2 คนในการตัดสิน โดยจะมี Card 3 สี ไว้บอกดังนี้

  1. สีเขียว – ผ่านฉลุย ใช้เวลาตามที่จับได้เลย
  2. สีเหลือง – ต้องเช็ควิดีโออีกครั้ง
  3. สีแดง – ทำล้ม

โดยสถิติโลกที่เร็วสุดถูกบันทึกเอาไว้ที่ 4.753 วินาที สำหรับการทำ Cycle โดย Chan Keng lan ชาวพม่า ส่วนสำหรับฝ่ายหญิงเป็นของ Si Eun Kim ตัวแทนจากเกาหลีใต้ที่ทำ Cycle ได้ที่ 5.042 วินาที และตั้งแต่มีการจัดมานั้น ประเทศไทยเองก็เคยได้รับรางวัลสูงสุดจากประเภททีม (Combined) ในปี 2014 ที่จัดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ด้วยเรียกได้ว่าฝั่งคนไทยเองก็ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว และทุกวันนี้ก็ยังมีการแข่งขันในระดับประเทศกันอยู่