Slumdog Millionaire (2008)
คำตอบสุดท้าย… อยู่ที่หัวใจ
คะแนน
โกดังหนัง
เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังไอเดียและความแปลกใหม่ครบรส
จนอยากจะบอกว่าหนังสนุกสุดๆ เป็นคำตอบสุดท้าย!
คำคมจากภาพยนตร์
“Scar is the proof of a healed wound.”
“แผลเป็น เปรียบเสมือนเป็นเครื่องพิสูจน์บาดแผลที่หายแล้ว”
เรื่องย่อ
จามาล มาลิค หนุ่มจากสลัม ที่ตอบคำถามจากรายการ Who Wants to Be a Millionaire? (หรือ เป็นเกมเศรษฐีในบ้านเราสมัยนั้น) มาได้จนถึงข้อสุดท้าย ที่มีเงินรางวัลสูงถึง 20 ล้านรูปี ท่ามกลางความสงสัยของบรรดาคนดูและพิธีกร รวมถึงตำรวจเองก็ยังมาจับเขาไปเพื่อหาคำตอบว่าเขาตอบคำถามถูกมาจนถึงข้อนี้ได้อย่างไร เป็นการโกงหรือไม่ ทำให้ จามาล เลยต้องนึกถึงอดีตที่ผ่านมาของเขา พร้อมทั้งเล่าว่าในช่วงชีวิตต้องผ่านอะไรมาบ้าง ถึงเอาประสบการณ์มาใช้ตอบได้ตั้งแต่ข้อแรกมาจนถึงข้อสุดท้ายนี้
หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร
สำหรับ Slumdog Millionaire คือหนังที่ควรอย่างยิ่งสำหรับคอหนังสายรางวัล ที่ต้องการพล็อตเรื่องหรือบทอะไรใหม่ แต่ไม่ได้ดูยากขนาดต้องปีนกระไดไปตีความฉากต่างๆ เพราะเรื่องนี้ ทำออกมาได้เรียบง่ายเลย กับการถ่ายทอดชีวิตเด็กอินเดียคนหนึ่งผ่านประสบการณ์ต่างๆ ที่เป็นช่วงเวลาสำคัญในชีวิตจนทำให้เขาสามารถนำสิ่งเหล่ามาเป็นคำตอบของเกมตอบคำถามได้ ด้วยความครบรสและดีในทุกองค์ประกอบของมันก็ทำให้มันคว้ารางวัลมาครองมากมาย ซึ่งหากใครชอบหนังรางวัลดีๆ ในโทนแปลกๆ มีกลิ่นอายเอเชีย แบบ Life of Pi ก็น่าจะชอบเรื่องนี้กว่ามากๆ
- สายหนังรางวัลบันเทิง
- สายหนังอินเดียชั้นดี
- สายหนังฮอลลีวู้ดในคราบบอลลีวู้ด
รีวิว / สรุปเนื้อหา
หนังเจ้าของรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ของปี 2009 อีกทั้งยังกวาดรางวัลรวมมาได้ถึง 8 รางวัลในปีนั้น ซึ่งตัวหนังเองก็เป็นการดัดแปลงมาจาก นิยายขายดีชื่อว่า Q and A เมื่อปี 2005 จากปลายปากกาของ Vikas Swarup นักการทูตชาวอินเดีย (แต่เห็นว่าในหนังมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะอยู่เหมือนกัน) ด้วยความที่ในช่วงนั้นยังไม่ได้ดูหนังแขกมาสักเท่าไร เลยทำให้ส่วนตัวรู้สึกว่าหนังนั้นออกมาค่อนข้างสดใหม่มาก และเล่นกับประเด็นเรื่องการเรียนรู้จากประสบการณ์มากกว่าในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี กับการที่เด็กจากสลัมคนนึง ที่ไม่ได้เข้ารอบมาจนถึงข้อสุดท้ายเพราะอาศัยความรู้ แต่กลับเป็นในเรื่องของวิถีชีวิตและความบังเอิญต่างๆ ที่ทำให้เขาตอบคำถามมาจนถึงข้อสุดท้ายในเกมเศรษฐีได้
ความสนุกของหนังก็คือการที่เราได้เห็นตัวละครอย่าง จามาล ตั้งแต่เด็ก ที่เราจะได้เห็นทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ผ่านทางฉากหลังอย่างอินเดีย จนทำให้เราได้ไปสำรวจสภาพสังคมของประเทศ ได้เห็นทัศนคติผู้คน ไปจนถึงในเรื่องวัฒนธรรม ศาสนาความเชื่อ ชนชั้น ได้อย่างเต็มที่ ส่วนนึงเพราะตัวหนังเองไม่ใช่แค่เพียงเป็นงานกำกับของชาวอังกฤษ Danny Boyle เพียงคนเดียว แต่ยังมีผู้กำกับร่วมชาวอินเดียอย่าง Loveleen Tandan ด้วย มันเลยทำให้หนังเข้าถึงความเป็นอินเดียแท้ๆ ได้เป็นอย่างมาก และสะท้อนความเป็นอินเดียทั้งในด้านที่สวยงาม และในด้านมืดออกมาได้อย่างครบเครื่อง
ในส่วนของจังหวะการดำเนินเรื่องก็ทำออกมาได้สนุกสุดๆ เพราะทุกช่วงชีวิตของ จามาล นี่คือมีเหตุการณ์มาชวนลุ้นตลอด และมีความครบรสมากๆ ทั้งในแง่การผจญภัย ความรัก การฝ่าฟันชีวิต แม้ว่าเรื่องราวหลักๆ ของหนังนั้นจะเป็นโทนค่อนข้างเครียดเมื่อได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของตัวละคร และชีวิตที่ดูแสนรันทด แต่หนังก็ยังสอดแทรกอารมณ์ขันต่างๆ ประกอบกับจังหวะดนตรีตามสไตล์อินเดียที่เข้มข้น พร้อมทั้งคาแรคเตอร์ความเป็นมวยรองของพระเอก ก็ยิ่งทำให้คนดูเอาใจช่วยไปกับตัวละครได้มาก จนนำไปสู่ฉากไคลแม็กซ์ที่ต้องลุ้นจนหัวใจแทบวาย กับการตอบคำถามสุดท้ายของเขา ทำให้เราไม่แปลกใจเลยที่หนังเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมและกวาดรางวัลมาได้มากมายขนาดนี้ ด้วยความสดใหม่ขายไอเดีย ที่ร้อยเรียงเรื่องราวมาได้เป็นอย่างดี จนเราต้องขอบอกว่า “หนังเขาดีมากจริงๆ เป็นคำตอบสุดท้าย!”
เกร็ดจากหนังเรื่องนี้
- ผู้ชมบางส่วนของหนังได้ชี้ว่าคำว่า “Slumdog” ดูเหมือนเป็นการเหยียดเชื้อชาติคนอินเดีย แต่ทางผู้กำกับ Danny Boyle เองก็ออกมาอธิบายชัดเจนว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเป็นเป็นส่วนผสมของตัวละครระหว่างคำว่า “Slumdweller” (ผู้อาศัยอยู่ในสลัม) กับคำว่า “Underdog” (มวยรอง) นั่นเอง
- ในตอนแรกนั้น หนังเกือบจะถูกส่งตรงในรูปแบบ DVD แทนที่จะฉายในโรงซะแล้ว แต่สุดท้ายก็มีการเปลี่ยนใจเอาเข้าฉาย ซึ่ง Rate ของหนังตอนก็ดูเหมือนจะเป็น PG-13 แต่แล้วก็ได้รับมาเป็น R แทน เนื่องจากโทนหนังบางส่วนที่ตึงเครียด และมีความรุนแรงเอาซะมากๆ
- ในฉากที่ จามาล ตอนเด็กกระโดดลงไปในกองอุจาระนั้น จริงๆ แล้วเป็นของที่ทำมาจากส่วนผมของ เนยถั่ว กับ ช็อคโกแลต (แต่ทำออกมาได้เหมือนจริงๆ 55+)