Red Life (2023)

เรดไลฟ์

Red Life Poster
7.5/10

คะแนน
โกดังหนัง

ใช้ความจนเล่าเรื่องได้กล้าหาญ พลิกมุมมองใหม่ให้วงการหนังไทย ความจนคือสิ่งที่ควรหยิบยกไปสร้างเป็นหนังได้แล้ว เพราะนี่แหละชีวิตจริงในสังคมไทย

หมวดหมู่ : Drama
สัญชาติ : Thai
กำกับโดย : Ekalak Klunson
ความยาว : 2 ชั่วโมง
นักแสดงนำ : Thiti Mahayotaruk, Supitcha Sungkajinda, Krongthong Rachatawan

คำคมจากภาพยนตร์

"อย่าทิ้งเราไปได้ป่าว เราไม่เหลือใครแล้ว"

เรื่องย่อ

ส้ม เด็กสาววัยรุ่นมัธยม เกิดและเติบโตในโลกใบเล็กๆ กับแม่ อย่าง อ้อย โสเภณีในย่านสลัมแนวตั้งใจกลางเมืองใหญ่กัดฟันขายตัวเพื่อส่งลูกสาวไปเรียนในโรงเรียนที่ดีแม้จะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมเพื่ออนาคตของส้มผลักดันเพื่อให้ลูกไปได้ไกล ส่วนอีกฝากหนึ่ง เต๋อ โจรกระจอกเด็กเร่ร่อนวัย 18 ปีที่หนีออกจากบ้านตั้งแต่เด็ก เต๋อเฝ้าฉกชิงวิ่งราวแถวสถานีรถไฟกับแก๊งค์เพื่อนเพื่อหาเงินสร้างชีวิตใหม่กับ มายด์ โสเภณีวัยรุ่นที่เขาทุ่มความรักให้มายด์เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเดียวในชีวิตของเต๋อขณะที่เต๋อก็เป็นทุกสิ่งในชีวิตมายด์เพราะสิ่งที่มายด์กลัวที่สุดคือการโดนทอดทิ้ง พวกเขาหวังจะเก็บเงินเพื่อจะออกไปอยู่ในสังคมที่ดีกว่าเดิม

หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร

สำหรับ Red Life เป็นหนังที่เหมาะกับคนที่ชอบหนังดาร์คๆ หนังนอกกระแส ไม่อินกับความโลกสวย นี่คือความกล้าหาญของงานคนไทยที่ทำหนังไทยโดยฉีกกรอบการทำหนังแบบที่ไม่มีค่ายไหนกล้าทำมาก่อน หยิบความโหดร้ายในสังคมไทยเล่าเรื่องผ่านตัวละครชายขอบ คนที่ไม่มีใครเคยเห็นคุณค่า คนกลุ่มล่างที่ต้องปากกัดตีนถีบต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดมีชีวิตหายใจทิ้งไปวันๆในสภาพสังคมที่กดทับคนจนแบบไม่มีชิ้นดีในสังคมไทย ด้วยรวมเป็นหนังที่สอบผ่าน ในแง่ของโลกที่โสมม ผ่านตัวละครที่ถ่ายทอดออกมาได้ซับซ้อนน่าเห็นอกเห็นใจ

รีวิว / สรุปเนื้อหา

หนังไทยแทบวนลูปเดิม รอมคอมรักตลก แต่ไม่มีเรื่องไหน ที่กล้าหาญมากพอที่จะประชดประชันสังคมไทยได้เลย และการมาของเรื่องนี้ถือเป็นการฉีกกรอบทุกอย่าง ประเทศไทยอันตรายความเหลื่อมล้ำติดอันดับต้นๆของโลก คนในประเทศเต็มไปด้วยความจน ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ แต่แทบไม่มีหนังเรื่องไหนเลย ที่หยิบความจนมาเป็นแกนหลักในการเล่าเรื่องผ่านตัวละครคนจนในสังคมเมืองมาก่อน หนังค่อยๆพูดผ่าน 2 เส้นเรื่อง วัยรุ่นหนุ่มสาวที่เติบโตในสลัม พวกเขาไม่รู้จักกันมาก่อน แต่แน่นอนว่าพวกเขาอยากก้าวผ่านจากชีวิตอันแสนเลวร้ายไปอยู่ในสภาพสังคมที่ดีกว่านี้ ความจนสิ่งที่พวกเขาต้องเจอมันน่าหดหู่มันสิ้นหวังจนพวกเขาไม่สามารถแบกรับได้อีกต่อไป ระหว่างทางมันทำให้คนดูได้เข้าใจว่าชีวิตจริงในสังคมไทยแม่งโหดร้าย ยิ่งเป็นคนไม่มีเงิน ชีวิตบัดซบสิ้นหวังไร้หนทาง คนจนคนสลัมที่อยู่ใจกลางกรุงเทพ ก็มีชะตากรรมที่ย่ำแย่ และหนังก็พูดในประเด็นนี้ได้น่าสนใจ พวกเขาอยากมีชีวิตที่ดี แต่แวดล้อม โอกาส ไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขาจะก้าวข้ามพ้นมันไปได้ ไม่มีแม้แต่ความหวังเลยด้วยซ้ำ

หนังค่อยๆเล่าผ่านมุมมองของคนจนคนที่มีความรัก และอาชีพโสเภณีขายบริการมาเกี่ยวข้อง เด็กสาวที่มีแม่ขายตัวที่แม่ผลักดันลูกให้มีชีวิตที่ดีกว่าตนเองจะได้ไม่ลำบากเหมือนเธอ แต่ปัญหาคือเด็กคนนี้แทบไม่มีความสัมพันธ์พื้นฐานที่ดีกับแม่เลย เธอถูกสั่งสอนให้เรียนดีเพื่อจะได้มีโอกาสที่ดี แต่ทว่าประสบการณ์สังคมรอบข้างที่เธอหวาดกลัว กลัวโดนมองว่าเป็นลูกสาวคนขายบริการทำให้เธอเหมือนคนแปลกหน้าไม่มีเพื่อนไม่มีสังคมที่ดีเลย มันมีฉากหนึ่งที่ได้ฉุกคิดตาม คนจนอยู่ในสังคมที่ดีมักจะรู้ตัวอยู่เสมอว่าตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ตัวเองใช่ ส้มรู้ตัวว่าเธอไม่เหมาะ รู้ว่าไม่ควร และความอ่อนไหว มันทำให้เธอได้เจอคนคนหนึ่งซึ่งเข้ามาทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนไป แตกต่างจากความสัมพันธ์กับแม่ตัวเอง จนเผลอให้ความรู้สึกดีไว้ใจจนไม่ทันตั้งตัว ส่วนอีกด้านหนึ่งโจร ธรรมดาก็อยากจะหลีกหนีชีวิตที่เลวร้ายไล่ปล้นคนไปเรื่อยไปมีชีวิตใหม่ แต่เขาดันทำอะไรก็ไม่เป็น ซ้ำร้ายยังอยู่ในสภาพเกาะแฟนที่ขายบริการอีก มันเลยทำให้ภาพลักษณ์ดูแย่หนักเข้าไป แน่นอนว่าเขาอยากพิสูจน์ตัวเองเพื่อต่อสู้ แต่สภาพสังคมการที่ไม่มีการศึกษามันทำให้เขาถูกกดขี่จากค่าแรง อัตราการแจ้งที่น้อยจนไม่พอกิน นี่แหละชีวิตจริงของคนจนในสังคมไทยปากกัดเอาตัวรอด พอไม่มีกิน ก็สุดท้ายคนชายขอบก็กลายเป็นโจร ปล้น ขโมยของ มีอยู่ซีนของตัวละครเต๋อที่มันบอบช้ำซะเหลือเกิน เขาต่อสู้เพื่อความรัก ความรักคือสิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวจิตใจตัวเอง แต่ทำดีให้ตายยังไงสุดท้ายก็ถูกแฟนตราหน้าว่าเป็นโจรอยู่วันยังค่ำ สุดท้ายคนที่ไว้ใจก็ยังมองเราเป็นคนไม่ดี

กราฟของหนังมันค่อนข้างดีนำเสนอได้มีมิติ สังคมคนจน แทบไม่มีหนังไทยในยุคปัจจุบันกล้าที่จะหยิบยกมานำเสนอ เพราะค่ายหนังมองว่าหนังคือความบันเทิงเลยละเลยความจริง ทีมผู้สร้างทำงานแบบเต็มที่เพื่อสร้างโลก Red Life ให้เห็นว่าปริมาณคนจนมันเยอะจริงๆ และหนังเรื่องนี้เป็นเหมือนกระจกสะท้อนความโหดร้าย คนจนไม่มีใครไม่อยากไปอยู่ในสังคมที่ดี แต่พวกเขาไม่มีเกาะกำบัง ไม่มีที่ไป ไม่มีมิตรแท้ที่ไว้ใจได้ พวกเขามีแค่ความรักเท่านั้นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และยิ่งสังคมไทยยุคนี้นับวันเลวร้ายลงเรื่อยๆ คนจนเพิ่มขึ้นเยอะหลายเท่าตัวค่าครองชีพสูงมันยิ่งตอกย้ำถึงความบัดซบในสังคมได้เป็นอย่างดี จุดที่หนังสื่อสารออกมาได้ดีคือการแสดงของแบงค์ ธิติ เนี่ยแหละที่พลิกภาพจำเดิมๆ เป็นผู้ชายเกาะแฟน ไม่มีจุดหมายปลายทางในชีวิต ทั้งที่เขาแค่อยากจะทำอะไรดีๆให้แฟนก็ยังโดนตัดสินแบบเลวร้ายโดยที่เขาตอบโต้อะไรมันไม่ได้เลย อีกคนที่น่าชื่นชมคือ น้อง Sydney สุพิชชา สังขจินดา แม้ว่าจะเล่นหนังครั้งแรก แต่เธอคือตัวแทนของเด็กสาวที่มีจุดเปราะบางเรื่องครอบครัวชัดเจน ความไม่เข้าใจสังคมที่บ้านเกิดเป็นความหวาดกลัวจนไร้ความหวัง ความเชื่อใจ บทดราม่าที่หนักหน่วงกับการเล่นหนังเรื่องมันต้องใช้พลังมากๆ และเธอก็ถ่ายทอดมันออกมาได้น่าเห็นอกเห็นใจมากๆ

เกร็ดจากหนังเรื่องนี้

  • แบงค์ ธิติ ลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมเพื่อรับบทเต๋อ
  • บิ๊ก D Gerrard นักแสดงในเรื่องเคยผ่านประสบการณ์เป็นคนชายขอบข้างถนนมาก่อน เรื่องนี้เขาเลยรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ทีมงาน
  • บทหนังใช้เวลาทำ 5 ปี
  • แรงบันดาลใจจากสารคดีวงเวียน 22 ชีวิตที่ไม่มีทางออกของทาง Brandthink
  • เสื้อผ้าของนักแสดงในเรื่องเป็นเสื้อผ้ามือสองทั้งหมด