4KingsScoop_00

4 เหตุผลที่ควรดู 4 Kings อีกหนึ่งหนังไทยชั้นดี ที่อยากให้พิสูจน์เอง

หลังจากที่ได้มีโอกาสไปรับชม 4 Kings รอบสื่อมาในวันที่ 7 ธ.ค. ตอนที่ออกจากโรงนี่ผมรู้สึกเลยว่านี่คือหนังไทยอีกเรื่องของปีที่อยากเชียร์มันมากๆ คือมันอาจจะไม่ได้เพอร์เฟคและมีจุดที่ขัดใจอยู่บ้างนิดหน่อยๆ แต่โดยภาพรวมมันก็เป็นหนังไทยทำได้เกินมาตรฐาน และมีคุณภาพที่ดีกว่าหนังไทยที่ออกมาในปีนี้เรื่องอื่นๆ อยู่มาก ที่สำคัญไปกว่านั้น มันก็ได้เลิกวนเวียนและออกจากวงจรหนังตลกและหนังผีได้สักที

โดย 4 Kings นั้นก็เล่าถึงช่วงนึงของยุค 90s ที่มีเหตุการณ์เด็กช่างกลตีกันออกข่าวรายวัน โดยมี 4 สถาบันหลักที่เจอหน้ากันทีไรเป็นต้องงัดกันตลอด โดย ดา, บิลลี่, ลูแปง และหรั่ง ต่างก็เป็นเด็กช่างของสถาบัน อินทรอาชีวะศึกษา และอยู่ในวังวนแห่งการตีกัน แต่เมื่อต่างคนต่างได้เผชิญกับปัญหาอื่นๆ ในชีวิตและเติบโตขึ้นพวกเขาก็ได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ 

หนังที่ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด

พูดกันตามตรงแว้บแรกที่ผมเห็นตัวอย่างหนัง 4 Kings ก็แอบคิดเหมือนกันว่านี่มันยุคไหนแล้ว ทำไมจู่ๆ ถึงอยากทำหนังช่างกลตีกันขึ้นมาในยุคแบบนี้ และถ้าคนที่ไม่ได้มีอดีตที่เคยเรียน หรือมีความเกี่ยวข้องกับสายช่างจะดูแล้วอินไหม? สนุกไหม? แต่พอได้ดูจริงๆ กลับพบว่า Message ของหนังค่อนข้าง General แต่ชัดเจนมากๆ ของหนังอันหนึ่งก็คือ “การเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต” โดยที่ไม่ต้องคิดว่าเราคิดยกพวกตีกันหรือไม่ แต่กลับเป็นการเรียนรู้จากหลายๆ เรื่องเราเคยพานพบและประสบมา ว่าสุดท้ายแล้วคนเราก็ต้องรับผิดชอบกับอดีตที่ตัวเองทำขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และสิ่งนี้มันจะติดตัวเราไปตลอด 

โดยส่วนนี้ของหนังก็เล่าได้ดีจริงๆ ในการขมวดปมต่างๆ ในตอนท้าย จนเล่นเอาน้ำตาซึมไปกับเรื่องราวได้เลยทีเดียว อีกทั้งตัวหนังก็ไม่ได้ทำตัวเป็นผู้ตัดสินพฤติกรรมและการกระทำของตัวละครมากมาย แต่ปล่อยให้คนดูได้ดูและตัดสินกันเอาเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นในนั้น ซึ่งมันก็มีแก่นสารและประเด็นต่างๆ อีกมากมายที่ชวนขบคิดได้ดี ไม่ว่าคุณจะเรียนสายไหน ก็สามารถเชื่อมโยงกับหนังได้ไม่ยาก

หนังจากประสบการณ์จริงของผู้กำกับ

ส่วนนึงที่ทำให้ 4 Kings ดูมีความโดดเด่นขึ้นมาก ก็คือการเล่าเรื่องจากประสบการณ์จริงของผู้กำกับ พุฒิพงษ์ กวีนิพนธ์ ที่เคยเรียนเป็นเด็กช่างมาก่อน และหยิบเอาเหตุการณ์ในช่วงยุค 90s ของ 4 สถาบันอย่าง ช่างกลบูรณพนธ์, กนกอาชีวะ, อินทรอาชีวะ และเทคโนฯ ประชาชื่น ที่มักตีกันอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นปัญหาสังคม ซึ่งเขาเองก็พยายามที่จะทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในนั้น รวมถึงเป็นการเตือนสติให้กับรุ่นน้องๆ ที่มาสายนี้ เสมือนว่าตัวเองก็เป็น “นักเลงเก่า” คนหนึ่งที่อยากจะแนะนำอะไรบางอย่างกับคนรุ่นหลังๆ อยู่เหมือนกัน  (ซึ่งความหมายในเพลงนี้ของ Taitosmith คือดีมาก https://www.youtube.com/watch?v=DkKr8fGIrCM )

ทำให้เนื้อเรื่องหรือเรื่องราวในหนัง เราจะได้เห็นความรู้จริงของเขาที่อยู่ในเรื่องนี้ และเหมือนมีแพสชั่นที่อยากเล่าผลักดันตัวหนังในแต่ละฉากอยู่ตลอดเวลา จนเป็นตัวที่เสริมน้ำหนักและความน่าเชื่อถือให้กับเรื่องราวได้มากจริงๆ 

ทีมดารา ศิลปินชั้นดีที่เล่นกันดีมากๆ ทุกรุ่น

โดยปกติแล้วการที่เห็นเหล่าศิลปินข้ามมาแสดงหนังเป็นครั้งแรกๆ นั้นก็มักจะเห็นความไม่สมูธหรือยังเล่นแข็งๆ บ้าง แต่กลับเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างพี่จ๋าย อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี นักร้องนำของ Taitosmith ที่เพิ่งเคยเห็นเขาแสดงในบทตัวเอกเป็นครั้งแรกก็ทำได้ดี และดูมีเสน่ห์น่าจดจำมากๆ ไม่ว่าจะฉากเท่ๆ หรือดราม่าก็เอาอยู่ หรืออย่างพี่ D Gerrard ที่ปกติจะเห็นแต่เขาแรป แต่พอมาเรื่องนี้คือพลิกโฉมแล้วเล่นได้เดือดจนน่ากลัวมากจริง ทำให้พอเอาไปรวมกลุ่มดาราที่มีฝีมืออยู่แล้ว ก็เลยพาเคมีเข้ากันได้เข้มข้นเลยที่เดียว

นี่ยังไม่รวมถึงรุ่นใหญ่ๆ ในเรื่องเกือบทุกคนที่ซีนดราม่าก็ขับเคี่ยวกันเข้มข้นมากๆ พวกการระเบิดอารมณ์ต่างๆ ทำมาได้ดีเลย แต่ที่ชอบที่สุดคงหนีไม่พ้นคุณ มิเกล สุกัญญา ที่ออกน้อยแต่ได้มากเสมอ ชอบในทุกฉากที่ปรากฏตัวออกมา เพราะจะมีคำสอนลูกแบบนิ่มๆ แต่ชวนเอาไปคิดได้ตลอดทุกฉากจริงๆ จนกลายเป็นว่าทีมดาราก็กลายเป็นจุดแข็งอีกอย่างของหนังเรื่องนี้จริงๆ

พาคนดูย้อนรำลึกถึงยุค 90s

ช่วงปี 90s เป็นอีกยุคที่คนพอมีอายุหน่อยในตอนนี้ล้วนโหยหา เพราะอาจจะเป็นยุคที่ตัวเองได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กหรือวัยรุ่นมาอย่างมีความสุข ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็มีกลิ่นอายบรรยากาศของยุค 90s อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นตู้โทรศัพท์ โทรศัพท์แบบหมุน เพจเจอร์ บัตรจีบ หรือศัพท์แสงต่างๆ ในสมัยนั้น รวมถึงบทเพลงต่างๆ ที่หนังเลือกหยิบมาใช้ โดยมีวงของ หิน เหล็ก ไฟ ที่เสมือนเป็นศูนย์กลางของวัยรุ่นเด็กช่างในยุคนั้น ที่ชวนคิดถึงเหลือเกิน และทำให้คนที่เกิดทันในยุคนั้นก็จะได้มีโอกาสโยกหัวตามเพลงได้ไม่ยากเลย