Inside Out (2015)
มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง
คะแนน
โกดังหนัง
เข้าใจมนุษย์จากตัวละครหลากหลายอารมณ์ในสภาพจิตใจ
ที่ถ่ายทอดออกมาได้สร้างสรรค์ และได้ทบทวนชีวิตตัวเอง
คำคมจากภาพยนตร์
“Crying helps me slow down and obsess over the weight of life’s problem.” “การร้องไห้ช่วยให้ฉันใจเย็นลง และก้าวข้ามผ่านปัญหาชีวิตที่มีได้”
เรื่องย่อ
ไรลีย์ สาวน้อยที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นที่เต็มไปด้วยความสับสนทางอารมณ์ อันประกอบไปด้วย Joy (ความสุข) , Sadness (ความเศร้า) , Anger (ความโกรธ) , Fear (ความกลัว) และ Disgust (ความรังเกียจ) ที่อยู่ในหัวของเธอ และคอยควบคุมจัดการอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ โดยชีวิตก่อนหน้าของเธอ มี Joy เป็นเสมือนหัวเรือที่สร้างความสุข และความสดใสตามชีวิตในวัยเด็ก จนกระทั่งเธอต้องเผชิญกับความสับสนในชีวิต เมื่อเธอจะต้องย้ายบ้านที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จนทำให้ Sadness กลับมามีบทบาททางอารมณ์ของเธอแทน ก่อนที่จะนำไปสู่ปัญหาที่ตามมากมาย
หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร
สำหรับ Inside Out คือ Animation ที่อยากแนะนำสำหรับคนที่กำลังหา Animation แบบดีๆ สักเรื่องที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเอง จากการเห็นกระบวนการทำงานของอารมณ์ในหัวของผู้คนในแบบที่เข้าใจง่าย มีสีสันและการเล่าเรื่องที่ชวนติดตามแล้ว ก็อยากให้ดูผลงาน Masterpiece อีกเรื่องของ Pixar เรื่องนี้นี่แหละที่จะตอบโจทย์ทุกอย่างที่คุณตามหา การันตีด้วยรางวัลออสการ์สาขา Animation ยอดเยี่ยม รวมถึงยังกวาดรางวัลต่างๆ มาอีกมากมายจากหลายเวที แต่ต้องบอกว่าด้วยความลึกซึ้งของมัน ทำให้มันอาจจะไม่เหมาะสำหรับเด็กๆ เท่าไรนัก แต่มุมผู้ใหญ่แล้ว มันดีเยี่ยมเหมือนอย่าง Up และ Coco ที่ชวนขยี้น้ำตาได้เหมือนกันเลย
- สายหนังแอนิเมชั่นชิงรางวัล
- สายหนังแอนิเมชั่นค่าย Pixar
- สายหนังแอนิเมชั่นเหมาะกับผู้ใหญ่
รีวิว / สรุปเนื้อหา
มันคือ Animation ของค่าย Pixar อีกเรื่องที่ดูจบแล้วถึงกับต้องร้องโอ้โห ไปกับความคิดสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องที่ทรงพลังของมัน อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องสุดเฉียบคม และมีความลึกซึ้งมากเกินกว่าที่เด็กจะดูเข้าใจด้วยซ้ำ แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้ว แม้ภายนอกมันจะดูเหมือนลูกกวาดหลากสีสัน จากบรรดาตัวละครที่ดูแฟนตาซีตามอารมณ์ต่างๆ แต่ภายในมันกลับอุดมไปด้วยสารอาหารชั้นดี ที่ดูแล้วคิดตามได้อยู่ตลอดทั้งเรื่อง จนต้องชื่นชม Pete Docter หัวหอกอีกคนของค่าย ที่ดำรงทั้งตำแหน่งผู้กำกับ และเป็นหนึ่งในคนเขียนบท ที่สร้างสรรค์ผลงานระดับ Masterpiece ของค่ายออกมาได้เช่นนี้
ด้วยไอเดียเริ่มต้นจากการที่ เวลาเดินผ่านใครบางคน เราเคยสงสัยบ้างไหมว่า ในหัวเขามีการทำงานกันอย่างไร ก็นำมาสู่ทีมอารมณ์แบบที่เราเห็นในหนัง ซึ่งมันก็ตัดสลับกันได้เป็นอย่างดี ระหว่างการทำงานในหัวของตัวละครสาวน้อยอย่าง Riley กับการใช้ชีวิตของเธอที่ทำออกมาให้เราเห็นถึงกระบวนการแบบง่ายๆ ที่ในหัวสั่งให้เรามีความรู้สึกและแสดงออกมาในแบบที่เข้าใจง่าย ไปจนถึงในเรื่องระบบของความทรงจา ที่มีวิธีถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนใจ และมีความสร้างสรรค์เป็นอย่างดี จนต้องยกนิ้วให้ รวมถึงทีมพากษ์เองก็สร้างสีสันให้กับตัวละครแต่ละอารมณ์ได้น่าสนใจเข้ากับคาแรคเตอร์พวกเขามากๆ
นอกจากการถ่ายทอดที่น่าสนใจ เข้าใจง่ายแล้ว ในมุมของประเด็นก็ทำออกมาได้น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะในเรื่องอารมณ์ที่เรามองว่าเป็นปัญหาที่สุด ก็คงเป็น Sadness หรืออารมณ์เศร้า ซึ่งในการจับคู่ของเธอกับ Joy นั้นก็เหมือนจะกลายเป็นขั้วอารมณ์ที่สะท้อนอะไรมาได้ต่างๆ มากมาย เพราะจริงๆ แล้วทุกคนก็คงไม่มีใครอยากให้ Sadness มาเป็นตัวควบคุมชีวิตให้หดหู่กัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเศร้ามันก็กลายเป็นสิ่งที่ให้เราเรียนรู้ ทำให้เราได้เติบโต และเป็นความทรงจำที่สอนเราได้หลายอย่าง ไม่มีใครที่สามารถสุขได้ตลอด แต่ก็ไม่มีใครที่เศร้าไปได้ตลอดเหมือนกัน ความหลากหลายทางอารมณ์เกิดขึ้นได้เสมอ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นสิ่งที่เรียกว่า “มนุษย์” นั่นเอง
เกร็ดจากหนังเรื่องนี้
- Pete Docter เคยออกมาพูดถึงการออกแบบตัวละครทางอารมณ์แต่ละตัวว่าอ้างอิงมาจากรูปร่างของอะไรดังนี้ Joy เป็นรูปดาว, Sadness เป็นรูปน้ำตา, Anger เป็นรูปของเพลิงไฟ, Fear เป็นรูปเส้นประสาท ส่วน Disgust เป็นรูป Broccoli เป็นเพราะเข้าเกลียดผักชนิดนี้เหลือเกิน
- ในตอนเริ่มไอเดีย มีการวางแผนว่าจะใช้อารมณ์ของตัวละครถึง 27 อารมณ์ที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายก็ปรับเหลือ 5 ตัวตามที่เราเห็นในหนัง เพื่อให้มันดูเรียบง่ายขึ้น ซึ่งตัวท้ายๆ ที่หนังตัดสินใจตัดออกก็ได้แก่ Surprise, Pride, Trust
- แรงบันดาลใจของผู้กำกับ Pete Docter สำหรับ Inside Out นั้นคือการได้เห็นอารมณ์ที่ปั่นป่วยของลูกสาวตัวเองที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นในแบบเดียวกับตัวละครของ Riley ในเรื่อง