Frequency (2000)
เจาะเวลาผ่าความถี่ฆ่า
คะแนน
โกดังหนัง
หนังพล็อตฆาตกรรมข้ามช่วงเวลาพล็อตเหนือชั้น สนุกไปกับการสืบสวนของคนสองยุค
แถมยังเล่าความสัมพันธ์พ่อลูกได้อย่างน่าประทับใจ
คำคมจากภาพยนตร์
“You gotta be more careful, cause I can't lose you again. Not like that.”
“พ่อต้องระวังตัวให้มากกว่านี้ เพราะผมคงทำใจเสียพ่อไปอีกทีไม่ได้”
เรื่องย่อ
จอห์น ซัลลิแวน ตำรวจหนุ่มที่สุญเสียพ่อของเขาไปเมื่อ 30 ปีก่อนจากอุบัติเหตุที่เข้าไปดับเพลิงในอาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังฝังใจเขามาจนถึงทุกวันนี้ จนกระทั่งวันหนึ่ง เข้าได้บังเอิญใช้วิทยุสื่อสารอันเก่าที่อยู่ในบ้าน และพบว่ามันเชื่อมต่อไปยังวิทยุในอดีต ที่มีพ่อของเขาพูดคุยด้วยได้ ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงแรกพ่อของเขาก็ไม่เชื่อ แต่เมื่อผ่านการพิสูจน์บางอย่างก็ทำให้ทั้งคู่เชื่อได้ว่าพวกเขาพ่อลูกสามารถติดต่อกันได้จริงๆ เลยทำให้ทั้งคู่ต้องร่วมมือกันสืบสวนเรื่องราวโดยผสานข้อมูลจากในอดีตและปัจจุบันเพื่อตามจับฆาตกรต่อเนื่องที่ยังลอยนวล ไปพร้อมๆ กันช่วยชีวิตพ่อของเขาให้รอดชีวิตมาถึงปัจจุบันให้ได้
หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร
สำหรับ Frequency นี้จะเหมาะกับคนที่ชอบหนังพล็อตเรื่องสนุกๆ มีการใส่คอนเซปเรื่องการข้ามเวลา ย้อนเวลาเข้ามาด้วย แต่ก็เป็นในรูปแบบที่ดูง่าย เข้าใจง่ายไม่เน้นทฤษฎีเยอะ รวมถึงยังมองหามุมมองอื่นๆ อย่างเช่นความสัมพันธ์ในครอบครัวเข้ามาด้วย หนังเรื่องนี้จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ก็อาจจะไม่เหมาะกับสายไซไฟฮาร์ดคอร์สักเท่าไร เพราะอาจจะมานั่งจับผิดในเรื่องกฏของเวลาจนปวดหัวกันไปเสียก่อน ซึ่งถ้าใครชอบซีรี่ส์เกาหลีอย่าง Signal หรือหนังเกาหลีแบบ The Call แล้ว เรื่องนี้คือต้นตำหรับเลย หรือจะมองว่ามันคือ About Time ในเวอร์ชั่นฆาตกรรมก็ไม่ผิดนัก
- สายหนังอาชญากรรมซับซ้อน
- สายหนังสืบสวนข้ามเวลา
- สายหนังความสัมพันธ์ครอบครัว
รีวิว / สรุปเนื้อหา
เป็นอีกหนังที่ถ้าใครได้ดูในสมัยนั้นคงจะต้องร้อง “ว้าว” ไปตามๆ กัน ด้วยคอนเซปเหนือชั้นในแบบกึ่งๆ Time Travel เพราะมันเหลือแค่ “เสียง” ที่กลายมาเป็นสิ่งที่ข้ามเวลาได้ แต่กฏอื่นๆ ก็แทบจะเหมือนกันนั่นก็คือการเปลี่ยนอดีตก็กระทบมาถึงอนาคตตาม ทำให้ภารกิจของสองพ่อ-ลูก ในการตามจับคนร้ายจึงกลายเป็นอะไรที่สนุกมาก ระหว่างการหาเบาะแสในสองยุคที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะต่างกันถึง 30 ปี แต่ที่เจ๋งคือเรื่องบางเรื่องหาได้จากในอดีตเท่านั้น แต่ก็มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีต่างๆ ในทางกลับกันส่วนอนาคตก็อาจไม่มีเบาะแสบางอย่างแบบในอดีตเช่นกัน มันเลยต้องประสานข้อมูลกันเพื่อให้ภารกิจสำเร็จ
นอกจากนี้ด้วยความที่บางเรื่องยิ่งแก้ก็กลายเป็นยิ่งแย่ และทำให้คดีก็กลายมาเป็นเรื่องส่วนตัว ก็ทำให้คนดูที่เริ่มจะผูกพันกับตัวละครสองพ่อลูกคู่นี้แล้ว ก็ยิ่งอยากเอาใจช่วยพวกเขา และร่วมลุ้นไปกับตัวละครมาขึ้นไปอีก ด้วยรูปแบบการเล่าเรื่องตัดสลับอดีตกับปัจจุบันที่เกิดขึ้นขนานกันไป อะไรที่เกิดในอดีตอาจเห็นผลชัดในอนาคตเลย เลยทำให้หนังทำออกมาได้ชวนลุ้นมากๆ ในฉากแอคชั่น หรือการสืบสวนต่างๆ จนทำให้แม้ว่าหนังจะออกมาขัดๆ ในเรื่องของTime Paradox ไปสักหน่อย (ซึ่งก็ไม่ได้ติดขัดอะไรมาก เพราะเกือบๆ ทุกเรื่องต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน) โดยเฉพาะในส่วนของ Butterfly Effect ที่หลายๆ คนก็มองว่า จริงๆ แล้วมันน่าจะสร้างแรงกระเพื่อมที่เปลี่ยนแปลงมากกว่านี้กับการแก้ไขอดีตที่เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ในเรื่องเงื่อนไขของเวลาก็ดูไม่ได้มีปัญหามาก เพราะหนังก็ตัดออกมาให้เล่าเรื่องง่ายๆ และเน้นไปในเรื่องของความสัมพันธ์ในตัว พ่อ-ลูก ที่มีโอกาสได้กลับมาคุยกัน ได้สานสัมพันธ์กันอีกครั้งมากกว่า แถมด้วยการเล่าที่สนุก ตัดต่อให้ดูง่าย เข้าใจง่ายแล้ว ก็สามารถทำให้เราสามารถมองข้ามทฤษฎี Time Travel ในเรื่องไปได้เลย และหากใครชอบหนังสายแมสที่ดูสนุกๆ อยู่แล้วนั้นเรื่องนี้จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ผูกพันกับพ่อมากๆ แล้วด้วย รับรองอาจจะมีน้ำตาไหลซาบซึ้งไปกับเรื่องราวในหนังกันได้เลย
เกร็ดจากหนังเรื่องนี้
- ตัวหนังฮิตจนมีการทำเวอร์ชั่น Series ออกมาในปี 2016 ในชื่อเดียวกัน แต่มีบางส่วนที่เปลี่ยนแปลงไป อย่าง Frank Sullivan (คนพ่อ) มีอาชีพเป็นนักสืบแทนที่จะเป็นนักดับเพลง และมีลูกสาวอย่าง Raimy แทนที่จะเป็นลูกชาย ในส่วนของความสัมพันธ์เขาก็หย่าร้างกับเมียแทนที่จะมีชีวิตแต่งงานดีๆ แบบในหนัง และนอกจากนี้ก็ยังมีหนังอีกหลายๆ เรื่องที่เอาไอเดียจากเรื่องนี้ไปใช้ อย่าง ซีรี่ส์เกาหลี Signal หรือหนังอย่าง The Call (แต่ก็มีบิดพล็อตให้น่าสนใจอยู่)
- Dennis Quaid ต้องเย็บถึง 16 เข็มบริเวณศรีษะหลังจากได้รับบาดเจ็บในฉากสตันท์ที่เล่นเอง ในการไหลลงมาจากตึกที่กำลังโดนไฟไหม้