Memories of Murder (2003)

ฆาตกรรม ความตาย และสายฝน

Memories of Murder Poster
10/10

คะแนน
โกดังหนัง

งานสืบสวนสอบสวนขึ้นหิ้งตลอดกาล เสียดสีประชดประชัน กับการเล่าเรื่องจริงคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ชำแหละความโหดร้ายการทำงานตำรวจเกาหลี

หมวดหมู่ : Crime Thriller
สัญชาติ : South Korean
กำกับโดย : Bong Joon-ho
ความยาว : 2 ชั่วโมง 12 นาที
นักแสดงนำ : Kang ho Song, Kim Sang-kyung

คำคมจากภาพยนตร์

“โดนส่งไปปราบปรามการประท้วงที่ซูวอน”

เรื่องย่อ

เมืองฮวาซอง จังหวัดคยองกีเมืองเล็ก ๆ ในเกาหลีใต้ เกิดคดีสะเทือนขวัญที่มีฆาตกรต่อเนื่องออกอาละวาดไล่ฆ่าข่มขืนรัดคอหญิงสาวแล้วเอากางเกงในของเหยื่อคลุมหน้าก่อนจะนำของใช้ยัดใส่ช่องคลอดจนเกิดคดีสะเทือนขวัญไปทั่วประเทศ แต่ตำรวจในท้องที่อย่าง นักสืบปาร์คโดมัน และนักสืบโชยังกู กลับเลือกสุ่มจับผู้ต้องหามาเพื่อหวังปิดคดีเร็วที่สุดจนทางการต้องส่ง นักสืบซอแตยุน นักสืบหนุ่มไฟแรงจากเมืองโซลมาร่วมสืบหาคนร้ายก่อนจะมีผู้เคราะห์ร้ายรายต่อไป

หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร

สำหรับ Memories of Murder เป็นไขคดีฆาตกรรมที่ไม่ควรพลาด ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟนคลับ Bong Joon-ho หรือสายหนังเกาหลี บทหนังเต็มไปด้วยปมปริศนามากมายที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้คิดตามบรรยากาศตึงเครียดร่วมกันไปหาสาเหตุทำไมคนร้ายถึงลงมือฆ่าผู้หญิงได้เลือดเย็น แต่ในเวลาด้วยกันหนังก็วิพากย์วิจารณ์การทำงานที่ห่วยแตกของสังคมเกาหลีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ชั้นผู้น้อยที่ถือกฏหมายแต่ละลายหน้าที่ตัวเอง เป็นงานที่ดูง่ายมากแอบแฝงไปด้วยความเหลื่อมล้ำช่องว่างระหว่างตำรวจและประชาชนที่นับวันสังคมเกาหลียิ่งห่างไกลไปเรื่อย ถ้าชอบ Zodiac หรือชอบหนังแนวสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ยังไงก็ต้องดู

  • สายหนังสืบสวนสอบสวน
  • สายหนังอาชญากรรม
  • สายหนังตลกร้ายเสียดสีสังคม

รีวิว / สรุปเนื้อหา

มีข้อถกเถียงว่าเรื่องนี้กับ Zodiac อะไรดีกว่ากันอันนี้ตอบยาก เพราะหนังมีจุดดีกันคนละแบบแต่บอกได้คำเดียวว่าเรื่องนี้เป็นงานสืบสวนสอบสวนที่ปราณีตมากๆ ถ้าย้อนกลับไปดูจะพบว่าบทหนังเล่าเรื่องจากเหตุการณ์จริง และเนื้อหาก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนอะไร เราได้เห็นว่า Bong Joon Ho เล่าเรื่องได้อย่างรอบคอบ ไม่ได้ชี้นำอะไรใครทั้งสิ้น เนื้อหาเลยเต็มไปด้วยเหตุการณ์ที่ขมขื่น หญิงสาวมากมายในชนบทกลายเป็นเหยื่อ โดยที่ตำรวจในเกาหลีทำอะไรไม่ได้ ความฉลาดของผู้กำกับคือการเล่าเรื่องพาคนดูไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ร่วมลุ้นไปกับการหาตัวฆาตกรรม ไปสัมผัสบรรยากาศเกาหลีใต้ยุค 80  ที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ค่อยๆเชือดคนดูหลอกไปหลอกมา การสร้างสถานการณ์ฆาตกรรมแต่ละซีนโปรดักชั่นเก็บรายละเอียดมาดีดูกลมกลืนไปกับเหตุการณ์นั้นจริงๆ ทั้ง ตัวประกอบ ฝนตก ทุ่งหญ้า ดินโคลน มันส่งกลิ่นโชยออกมาราวกับว่าเราเป็นคนที่เห็นเหตุการณ์ตรงนั้น เบื้องหลังของหนังคือการออกไปถ่ายทำในสถานที่จริงไม่มีเซ็ตติ้งฉากขึ้นมา ทำให้ภาพของหนังตีความออกมาได้ชวนตั้งคำถามกับระบบสังคมเกาหลีที่ล้าหลัง ช่องโหว่ของกฏหมายที่เยอะแยะไปหมด คนถือกฏหมายกลับทำอะไรฆาตกรรมไม่ได้ รายละเอียดระหว่างทางของหนังเต็มไปด้วยความน่าสงสัยที่ว่าอะไรคือแรงจูงใจของคนร้าย  และการทำงานของตำรวจล้าหลังแทบทุกก้าว มันตลกมากที่ตำรวจฝากความหวังอะไรไม่ได้ แถมยังจัดฉากจับคนร้ายตัวปลอมหวังสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีกลายเป็นเรื่องบานปลายไปกันใหญ่ใส่ร้ายคนบริสุทธิ์หาแพะ 

จริงๆแล้วหนังพูดถึงฆาตกรรมว่าทำไมถึงลงมือฆ่าเหยื่อ แต่อีกด้านหนึ่งหนังก็แฝงไปด้วยการชำแหละการทำงานของตำรวจที่ทำงานแบบไร้หลักการ ในช่วงเวลานั้นสังคมเกาหลีมีการประท้วงของนักศึกษาที่ซูวอน ตำรวจเกทับไปที่นั้น ขอกำลังสนับสนุนมาก็ไม่ได้ เพราะคนมีอำนาจไม่ได้ใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าคนร้ายจะโผล่มาเมื่อไหร่ ภาพของหนังก็เลยเข้าถึงได้ง่ายๆ ได้เห็นความดิบเถื่อนของตัวละครตำรวจที่ไม่ไ้ด้เต็มที่กับการทำงาน การเอาคนพิการมาเป็นเหยื่อ นี่ยังไม่รวมถึงการทำงานเอาหนีการอยากจะได้รับการอวยยศของเหล่าผู้พิทักษ์ความยุติธรรม หรือแม้แต่การสรรหาเหตุผลมาซัพพอร์ตสิ่งที่ตัวเองเชื่อ โดยที่ทั้งหมดเป็นความหละหลวมของกฎหมายจนสรุปแล้วคนยังฝากความหวังเอาไว้ได้อยู่หรือเปล่าเมื่อการทำงานหวังพึ่งพาอะไรไม่ได้ ตำรวจก็เล่นใช้ความรุนแรงเพราะว่าตัวเองถือกฏหมายเอาไว้ไปกลั่นแกล้งประชาชน จนกลายเป็นชุดความคิดที่ฝั่งรากลึกในสังคมเกาหลีไปแล้วว่า มีอำนาจจะทำอะไรกับคนอื่นก็ได้งั้นหรอ ยัดเยียดข้อหา ซ้อมประชาชนได้ตามใจชอบ นี่ยังไม่รวมการกดดันจากกระแสสังคมที่ตำรวจต้องการทำงานเพื่อกู้ชื่อเสียงเท่านั้นไม่ได้คิดใส่ใจทำงานอย่างจริงจัง หรือการมีตำรวจหญิงในเรื่องที่เปรียบเสมือนคนชงกาแฟไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการทำคดี แต่เพราะวัฒนธรรมระบบสังคมเกาหลีทำให้เธอไม่มีพื้นที่ไม่มีจุดยืนเหมาะผู้ชาย

ตลอด 2 ชั่วโมงหนังสร้างความขมขื่นให้ผู้ชม  Bong Joon Ho  เล่าเรื่องได้แบบฉลาดปล่อยให้คนดูไปตัดสินเรื่องราวกันเอาเองในช่วงตอนจบเรื่องที่มันทรงพลัง  ให้คนได้เข้าใจว่าเราทุกคนมีสิทธิ์เป็นฆาตกรเป็นคนร้ายได้ทุกเมื่อ  เพราะตัวฆาตกรมันไม่ได้วัดกันที่ความแปลกแยก แตกต่าง หรืออะไรอีกแล้วนั่นเอง เมื่อจับคนร้ายไม่ได้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานความหวาดระแวง ตำรวจก็จำนนต่อความผิดพลาดของตัวเอง จนกลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกไม่มีวันหายกลายเป็นตราบาปที่โหดร้ายหลอกหลอนคนเกาหลีใต้และไม่มีวันหนีพ้น แถมบทหนังก็มีวิธีการที่เหนือชัดกัดจิกเสียดสีประชดประชันตามสไตล์ผู้กำกับ แถมยังดึงความสามารถของนักแสดงออกมาได้ เป็นนักสืบที่ไม่ถูกขี้หน้ากันต่างฝ่ายทำงานด้วยชุดความคิดที่ไม่เหมือนกัน ตำรวจในเมืองหลวง Kim Sang-kyung ที่มาด้วยความถูกต้องมาด้วยหลักการ กับตำรวจในเมืองกับตำรวจชนบท Kang Sang-ho ที่มาสไตล์แบบทำงานไปงั้นๆ แต่พอสถานการณ์เปลี่ยนไป มุมมองทัศนคติมันดันสลับขั้วกันพิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ไม่มีใครยึดติดกับชุดความเชื่อแบบเดิมๆได้อีกต่อไป

เกร็ดจากหนังเรื่องนี้

  • หนังเรื่องถ่ายทำในสถานที่จริงไม่มีการใช้โลเคชั่นจำลองหรือถ่ายในสตูดิโอ
  • Bong Joon-ho ไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวตำรวจ ครอบครัวผู้เสียหาย ก่อนจะทำหนัง
  • ตอนจบ Bong Joon-ho จงใจจะส่งสาสน์ไปยังฆาตกรตัวจริง
  • Bong Joon-ho เคยทำเรื่องนี้เป็นละครเวทีในชื่อ Come to See Me
  • Bong Joon-ho ไม่ชอบตำรวจออกแนวเกลียดซะด้วยซ้ำ
  • ฆาตกรตัวจริง Lee Choon-jae เคยไปดูหนังเรื่องนี้ และปัจจุบันติดคุกโดนจับตัวไปแล้ว
  • นี่คือคดีฆาตกรรมที่ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงที่ตำรวจเกาหลีปิดคดีไม่ได้
  • เป็นสื่อบันเทิงเรื่องแรกที่หยิบยกคดีฆาตกรรมที่หาคนแรกไม่ได้มาสร้างเป็นหนัง
  • ประเทศไทยได้ดูหนังเรื่องนี้เมื่อปี 2020
  • ปี 2003 หนังเรื่องนี้เข้าฉายพร้อม The Matrix Reloaded ทำรายได้ชนะตั้งแต่สัปดาห์แรก