Scoop Inside Out_00

6 ข้อคิดจาก Inside Out : Animation ที่จะพาเราไปรู้จัก และรับมือกับภาวะอารมณ์

Pixar นั้นคือหนึ่งในค่าย Animation ชื่อดังที่โดดเด่นมากในเรื่องของการสอดแทรกประเด็นคิดลงไปในเรื่องราวง่ายๆ แต่กลับชวนคิดมาได้ตลอดหลังได้ดูจบ ซึ่ง Inside Out ก็นับเป็นอีกผลงาน Masterpiece ของทางค่ายที่หยิบเอาเรื่องของอารมณ์และการทำงานของสมองเด็กอายุ 11 ขวบ ออกมาเล่าได้อย่างเข้าใจง่าย อีกทั้งยังสื่อสารออกมาได้น่าประทับใจจนสามารถเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตัวเองได้มากขึ้น

จนไม่แปลกใจหากใครหลายคนจะยกให้ Inside Out เป็น Animation เรื่องโปรดอีกเรื่องของค่ายนี้เลย แม้ว่าจะผ่านมาหลายปีหน่อย แต่ก็เชื่อว่าเนื้อหาของมันยังคงเป็นอมตะอยู่ วันนี้ทาง โกดังหนัง จึงอยากจะมาแชร์ข้อคิดดีๆ ในเรื่องของการรับมือกับอารมณ์ ที่ได้จากการดู Animation เรื่องนี้กัน ว่าได้อะไรดีๆ กลับมากันบ้าง ส่วนใครอยากอ่านก่อนดูหรือดูก่อนอ่าน ก็ไปรับชมกันได้ผ่านทาง Disney+hotstar ได้เลยนะ

คนเราไม่จำเป็นต้องมีความสุขตลอดเวลา

จากในเรื่องเราจะเห็นได้ว่า ตัวละครอย่าง Joy หรืออารมณ์สุข นั้นจะเป็นตัวละครที่มองโลกในแง่ดีตลอดเวลา และมีความสุขกับทุกสิ่ง จนอยากที่จะเข้าควบคุมอารมณ์ของตัวละคร Riley เป็นหลักเพื่อให้นั้นเธอมีแต่ความสุข แต่ในชีวิตจริงนั้น มันเป็นไปไม่ได้ที่ใครคนหนึ่งจะมีความสุขไปได้กับทุกเรื่องในชีวิต 

ในบางครั้งเราอาจต้องเผชิญกับความผิดหวัง ความเศร้า หรือความโกรธที่เข้ามาแทนที่ เพราะจากผลวิจัยทางจิตวิทยาก็บอกว่าคนที่ได้เผชิญกับทั้งสภาวะสุขหรือทุกข์ในแต่ละวันจนเป็นเรื่องปกตินั้นจะมีสุขภาพจิตที่ดีกว่า เพราะสามารถทั้งมีความสุข และรับมือกับความผิดพลาดในชีวิตที่เกิดขึ้นได้

อย่าให้ความโกรธมาควบคุม

Anger หรืออารมณ์โกรธ เป็นอีกตัวละครที่มีสีสันอยู่มากในเรื่อง ด้วยนิสัยที่หัวร้อน ไร้เหตุผล และดุเดือดระดับไฟติดหัวตลอดเวลา มันจึงเป็นอีกตัวละครที่กำหนดความแปรปรวนทางอารมณ์ของตัวละคร Riley เป็นอย่างมาก แต่ถึงอย่างไรก็นับเป็นอีกอามรมณ์ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตอยู่ไม่น้อย 

เพราะหลายครั้งเราก็ต้องแรงกระตุ้นในการทำอะไรบางอย่าง หรือเป็นการระบายเพื่อปลดปล่อยสิ่งที่เก็บเอาไว้ในใจ แต่ทั้งนี้การที่ให้ Anger เข้ามามีบทบาทในการควบคุมอารมณ์มากๆ เข้าจะทำให้สมองของเราขาดเหตุและผล ขาดความยับยั้งชั่งใจจนนับเป็นอะไรที่อันตรายในการใช้ชีวิตไม่น้อยเลยล่ะ

ความทรงจำคือสิ่งที่ทำให้เรียนรู้

ในหนังทำให้เราเห็นว่ารูปแบบของความทรงจำของคนเราเก็บเป็นภาพอย่างไร ซึ่งมันก็ออกมาเสมือนเป็นคลังของลูกแก้วความทรงจำที่เก็บทุกสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตของเราเต็มไปหมด ซึ่งลูกแก้วเหล่านี้ นอกจากจะเก็บความทรงจำในอดีตแล้ว มันยังเป็นสิ่งที่สร้างตัวตนในอนาคตด้วย เพราะเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะเรียนรู้จากอดีต อะไรที่ทำให้มีความสุขหรือเป็นทุกข์ อะไรทำแล้วดีหรือไม่ดี 

เราก็จะใช้ความทรงจำเหล่านี้พัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ ดังนั้นการเอาแต่เก็บความทรงจำที่ดี และลืมสิ่งที่ไม่ดีก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเท่าไรนัก เมื่อความทรงจำที่ไม่ดี อาจเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราเอาตัวรอดจากสถานการณ์บางอย่างได้อยู่เหมือนกัน

การปล่อยวางคือส่วนหนึ่งของการเติบโต

Riley ในวัยเด็กนั้นมีเพื่อนในจินตนาการที่ชื่อว่า Bing Bong เหมือนอย่างเด็กหลายๆ คน ที่เติบโตขึ้นมา จนในอนาคตก็ลืมมันไป สำหรับ Bing Bong นั้นก็เคยเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของ Riley แต่เมื่อวันหนึ่ง Riley ก็ได้โตขึ้น และกำลังจะก้าวสู่ช่วงวัยรุ่น ทำให้ในขณะที่ Bing Bong กำลังหนีมากับ Joy นั้น ก็ตัดสินใจสละตัวเองเพื่อให้ Joy สามารถกลบไปได้ โดยให้ตัวเองนั้นถูกทิ้งเอาไว้ไม่หลงเหลือในความทรงจำอีกต่อไป 

สำหรับมนุษย์ทุกคนก็เช่นกันที่ในชีวิตก็ต้องเริ่มละทิ้งและปล่อยวางบางอย่างเพื่อเติบโตขึ้น และเลือกรับผิดชอบในสิ่งที่สำคัญกว่าของชีวิตในตอนนั้น 

ความเศร้าคือประสบการณ์ที่ชีวิตต้องเผชิญ

ตัวละคร Sadness หรืออารมณ์เศร้า เคยกล่าวไว้ว่า “การร้องไห้ช่วยให้ฉันได้ชะลอความคิด และได้สนใจกับน้ำหนักของปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า” ซึ่งในตัวหนังเองก็แสดงให้เห็นว่า Joy เองนั้นพยายามควบคุมความรู้สึกทุกอย่างของ Riley เพื่อให้มีความสุข และพยายามกัน Sadness ออกไป เพราะเห็นว่าเธอไม่ได้มีประโยชน์กับอารมณ์ของ Riley เสียเลย 

แน่นอนว่าใครจะอยากเศร้ากันล่ะ แต่ในเมื่อชีวิตมันเลี่ยงไมไ่ด้ และไม่มีอะไรที่ตรงกับที่เราต้องการทุกอย่าง การที่ Joy ได้เห็นจากความทรงจำแล้วว่า Sadness ช่วยให้ Riley ผ่านชีวิตในช่วงต่างๆ มาได้อย่างไร และหลายๆ ครั้งความเศร้าก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสุขได้ในเวลาต่อ

ทุกอารมณ์ล้วนมีประโยชน์

แม้เราจะไม่ได้เห็นว่า Disgust หรือความเกลียด กับ Fear หรือความกลัวนั้น มีบทบาทเท่าไรนักในชีวิตของ Riley แต่หากพิจารณาให้แล้ว การมี Disgust หรือ Fear ในตัวนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันคือส่วนหนึ่งในกลไกป้องกันตัวเองที่ไม่ให้เราไปเผชิญกับอันตราย อย่างหลายคนกลัวที่มืด เพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรอยู่ข้างหน้า หลายคนรังเกียจของที่ไม่คุ้นเคย 

ทั้งหมดนี้เป็นการตอบสนองของร่างกายเมื่ออยู่ในความเสี่ยง แต่หากใครที่มีความ Disgust หรือ Fear มากจนเกินไปแล้ว ก็จะทำให้เป็นปัญหาในชีวิตอีก เมื่อต้องกลัวที่จะทำทุกอย่าง ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ จนอาจเสียโอกาสที่ดีในชีวิตไปก็ได้ ในส่วนนี้จึงต้องมีอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกาย ที่ไม่ทำตัวเสี่ยงจนเกินไป และกล้าที่ตัดสินใจหรือลงมือทำอะไรบางอย่าง