Schindler’s List (1993)

ชะตากรรมที่โลกไม่ลืม

Schindler’s List Poster
10/10

คะแนน
โกดังหนัง

หนึ่งในหนังที่ดีที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของหลายสำนัก สะท้อนความโหดร้ายที่มนุษย์ทำต่อกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความหวังและความดีงามของมวลมนุษย์อยู่

หมวดหมู่ : Biography Drama History
สัญชาติ : American
กำกับโดย : Steven Spielberg
ความยาว : 3 ชั่วโมง 15 นาที
นักแสดงนำ : Liam Neeson, Ralph Fiennes, Ben Kingsley

คำคมจากภาพยนตร์

“Whoever saves one life, saves the world entire.”
“ใครก็ตามที่ช่วยได้สักหนึ่งชีวิต เขาก็ได้ช่วยโลกทั้งใบแล้ว”

เรื่องย่อ

ออสการ์ ชินด์เลอร์ นักธุรกิจที่ได้มีโรงงานผลิตเครื่องเคลือบภาชนะในการทำสงคราม โดยอาศัยแรงงานราคาถูกที่เป็นชาวยิวมาทำงานเพื่อแสวงหาผลกำไร ท่ามกลางช่วงที่สงครามคุกรุ่นนั้น เขาได้เป็นพยานในเหตุการณ์สังหารหมู่มากมายที่เกิดขึ้นจากกลุ่มนาซีที่กระทำต่อชาวยิว จนกระทั่งได้รู้จักกับ อิตแซค สเติร์น สมุห์บัญชีชาวยิวผู้ลักลอบจ้างคนสัญชาติเดียวกัน เพื่อให้รอดจากการฆ่าของทหารนาซี ทำให้เขาจึงตัดสินใจทำรายชื่อ และซื้อตัวชาวยิวเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้ได้เป็นอิสระจากผลพวงของสงครามครั้งนี้

หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร

สำหรับ Schinler’s List คิดว่าน่าจะอยู่ในหมวดที่ควรได้ดูสักครั้งในชีวิตแบบไร้ข้ออ้างใดๆ ไม่ว่าคุณจะชอบหนังแนวไหน หรือสไตล์ไหนแล้ว นี่คือ 1 ในหนังที่ยังไงก็ต้องดู เพราะส่วนตัวเชื่อว่าหนังน่าจะเหมาะกับทุกคนได้ จากการที่ถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ออกมาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความสมบูรณ์ทั้งในแง่คุณภาพและความบันเทิงแบบเต็มเปี่ยม จนไม่อยากให้กังวลกับการที่หนังเป็นขาวดำนัก เพราะมันไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด แถมยังเป็นการเอื้อให้อารมณ์ของหนังที่ถ่ายทอดออกมาดีขึ้นมากๆ ด้วยรางวัลออสการ์การันตีมาถึง 7 รางวัล ที่มีรางวัลใหญ่อย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยมมาด้วยแล้ว ยังไงก็เป็นหนังที่ไม่ควรพลาดสำหรับทุกคนครับ ยิ่งถ้าชอบหนังผลพวงจากสงครามแบบหม่นๆ อย่าง The Pianist, Life is Beautiful หรือ The Boy in a stripped pajamas แล้ว Schinler’s List คือพ่อทุกสถาบัน

  • สายหนังคลาสสิคตลอดกาล
  • สายหนังรางวัลคุณภาพดี
  • สายหนังผลพวงจากสงคราม

รีวิว / สรุปเนื้อหา

เรียกได้ว่าเป็นโชคดีของตัวเองที่แม้ว่าจะไม่ทันได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์เมื่อครั้งแรกที่ออกฉาย แต่ก็มีโอกาสได้ดูอีกครั้งกับการนำมาฉายใหม่ในวาระครบรอบ 25 ปีของหนัง และรู้สึกคุ้มค่า อิ่มเอมมากๆ ตลอดเวลา 3 ชั่วโมงกว่าของหนังที่บรรยากาศของโรงหนังที่เอื้อต่อการรับชมได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าหนังตั้งใจถ่ายทอดออกมาด้วยสีขาวดำแทบตลอดทั้งเรื่อง แต่กลับไม่ได้รู้สึกขัดตา ขัดใจ แต่อย่างใด อีกทั้งด้วยความที่เป็นสีขาวดำนี่แหละ ที่ทำให้ภาพของหนังในแต่ละฉากนั้นทำออกมาได้สวยมากๆ และโทนสีนี้ก็สร้างความมืดหม่น หดหู่ไปกับเรื่องราวได้มากเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใส่เด็กหญิงชุดแดงเข้ามา ก็เป็นอีกสัญลักษณ์ที่ทรงพลังสุดๆ จนทำให้การจัดแสงสีของหนังนั้นนับเป็นอะไรที่ดูใส่ใจในรายละเอียดและมีความน่าชื่นชมเป็นอย่างมาก

นับว่าเป็นความเก่งของผู้กำกับสปีลเบิร์กที่ทำหนังอะไรออกมาก็สนุก แถมเรื่องนี้ยังทำออกมาด้วยใจรัก ด้วยความที่ตัวเขาเองเป็นชาวยิวเหมือนกัน จึงตั้งใจถ่ายทอดเรื่องนี้ออกมาด้วยหัวใจไปสู่ชาวโลก ด้วยการไม่ขอรับค่าจ้างจากการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เลย ส่งผลให้แม้ว่าหนังจะใช้เวลายาวนาน แต่กลับไม่มีช่วงใดของเรื่องราวที่รู้สึกน่าเบื่อเลยแม้แต่น้อย ทุกองค์ประกอบต่างๆ ของหนังต่างสอดคล้องรับกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นบท การเล่าเรื่อง การตัดต่อ งานภาพ ไปจนถึงงานเสียงจาก จอห์น วิลเลียม ที่เป็นคนทำดนตรีคู่บุญของหนังสปีลเบิร์กอยู่แล้ว ยิ่งทำให้หนังเรื่องนี้ออกมาแทบจะไร้ที่ติ และเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ที่ผู้กำกับใส่ลงมาอย่างตั้งใจ และหวังที่จะสื่อสารถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นจริงๆ

โดยรวมแล้วไม่แปลกใจหากหลายคนจะยกให้ Schindler’s List เป็นหนังชั้นเยี่ยมในดวงใจ ที่คำว่า Perfect ก็คงไม่เกินไปสำหรับหนังเรื่องนี้ เพราะมันเป็นหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้ชวนหดหู่ สะเทือนใจไปกับชะตากรรมอันโหดร้ายของชาวยิว และความเลวร้ายของสงคราม ที่ดึงเอาด้านมืดของมนุษย์ออกมาได้อย่างน่าเศร้าจนอดน้ำตาไหลไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันตัวหนังเองก็ไม่ได้หมกมุ่นอยู่แค่กับความมืดหม่นอย่างเดียว เพราะมันยังคงมีความหวัง และด้านดีของมนุษย์ในเรื่อง เพื่อให้รู้สึกถึงพลังบวกอยู่บ้าง จากการช่วยเหลือกันของเพื่อนมนุษย์ โดยไม่ทำให้เราหดหู่จนเกินไป และเต็มอิ่มไปได้กับพลังอันเหลือล้นจากหนังสุดคลาสสิคเรื่องนี้

เกร็ดจากหนังเรื่องนี้

  • นอกจากหนังจะได้รางวัลออสการ์มาการันตีคุณภาพถึง 7 รางวัลแล้ว ก็ยังได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากอีกหลายๆ สำนักมาครอง พร้อมๆ กับกวาดรายได้ถึง 322 ล้านเหรียญทั่วโลก (จากทุนแค่เพียง 22 ล้านเหรียญเท่านั้น) จนไม่แปลกใจที่ไม่ว่าจะเป็นในมุมของนักวิจารณ์ หรือคอหนังทั่วไปต่างก็รักหนังเรื่องนี้กันหมดหัวใจจริงๆ
  • จริงๆ แล้ว Steven Spielberg เป็นผู้กำกับที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำภายในค่าย Auschwitz แต่เขาก็เลือกที่จะไม่เข้าไป เพื่อเป็นการเคารพแก่บรรดาเหยื่อทั้งหลาย ทำให้การถ่ายทำจึงถ่ายจากประตูด้านนอกเท่านั้น จากนั้นมาเชื่อมกับฉากด้านในที่เซ็ตขึ้นมาเอง
  • ด้วยความที่ Steven Spielberg ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา เพราะไม่อยากถููกหาว่าเอาชื่อของเหยื่อร่วมเชื้อชาติมาหากิน จึงปฏิเสธที่จะรับค่าตัวในหนังเรื่องนี้ อีกทั้งยังปฏิเสธที่จะแจกลายเซ็นให้กับอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้ด้วย