Interstellar (2014)

ทะยานดาวกู้โลก

Interstellar Poster
10/10

คะแนน
โกดังหนัง

หนังอวกาศสุดทะเยอทะยานของเสด็จพ่อ Christopher Nolan ที่มีทฤษฎีสุดล้ำ รวมถึงพาร์ทดราม่าน้ำตาแตก พร้อมกับภารกิจสุดระทึก”

หมวดหมู่ : Adventure Drama Sci-Fi
สัญชาติ : American
กำกับโดย : Christopher Nolan
ความยาว : 2 ชั่วโมง 40 นาที
นักแสดงนำ : Matthew McConaughey, Anne Hathaway, Jessica Chastain

คำคมจากภาพยนตร์

“Love is the one thing that transcends time and space.”
“ความรัก คือสิ่งเดียวที่ข้ามผ่านเวลาและอวกาศได้”

เรื่องย่อ

เมื่อโลกใบเดิมที่มนุษย์อาศัยอยู่ เกิดวิกฤตแห้งแล้ง พืชผลล้มตาย เหลือแต่เพียงปัญหาฝุ่นขนาดหนักที่ทำให้มนุษย์ต่างเจ็บป่วยจากสภาวะนี้ และขาดแคลนอาหารกันอย่างมาก ทางรอดเดียวของมนุษย์จึงเป็นการเดินทางข้ามกาแลคซี่ไปหาที่อยู่แห่งใหม่ เลยทำให้ คูเปอร์ วิศวกรพ่อลูกสอง จึงต้องตัดสินใจลาจากครอบครัว เพื่อเข้าร่วมภารกิจการตามหาดาวดวงใหม่ โดยที่ไม่รู้อนาคตว่าจะสำเร็จหรือไม่และจะได้กลับมาเมื่อใด

หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร

สำหรับ Interstellar นั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนหนังของ Christopher Nolan หรือเป็นคอหนังอวกาศแล้ว นี่คือหนังที่ควรได้ดูสักครั้งในชีวิต ทั้งเรื่องราวสุดล้ำที่มีทฤษฎีมารองรับ ทั้งเรื่องสัมพันธภาพเวลา รูหนอน มิติที่ 4 หรืออะไรต่างๆ ที่ดูสมจริงสู่ภารกิจผจญภัยที่สร้างความตื่นตาตื่นใจบนดวงดาวแต่ละดวงที่มีความเฉพาะตัวเป็นของตัวเอง และสร้างความตื่นต้นทุกครั้งที่ตัวละครได้ลงไปในพื้นที่ต่างๆ จนทำให้แฟนๆ หนังอวกาศที่ชอบเนื้อเรื่องล้ำๆ จะต้องถูกใจกันอย่างแน่นอน ใครที่ชอบหนังอย่าง Gravity, The Martian, Contact ที่เน้นทฤษฎีมากกว่าอะไรเว่อร์แล้ว นี่คือหนังอวกาศขึ้นหิ้งที่ควรได้รับชมสักครั้งจริงๆ

  • สายหนังเสด็จพ่อโนแลนด์
  • สายหนังอวกาศสุดล้ำ
  • สายหนังไซไฟสมจริง

รีวิว / สรุปเนื้อหา

อีกหนังที่คนดูคาดหวังกันเอาไว้อย่างสูงตั้งแต่ได้เห็นตัวอย่าง นับเป็นอีกหนังอวกาศที่ทะเยอทะยานพาคนดูไปไกลมาก จากการที่อยู่ในมือของผู้กำกับระดับเทพอย่าง Christopher Nolan และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะเรื่องนี้มันมีทั้งความเป็นหนังครอบครัว และสร้างนิยามคำว่า “ผี” ในแบบของเขาเองขึ้นมาอีกด้วย ด้วยความที่หนังได้ Kip Thorne นักฟิสิกส์ทฤษฎีชื่อดัง มาเป็นที่ปรึกษาให้กับการทำหนังเรื่องนี้ ทำให้รายละเอียดต่างๆ ในหนังจึงออกมาได้ดูน่าเชื่อถือไปเสียหมด แม้ว่าจะมีการเสริมเติมแต่งความเป็นภาพยนตร์เข้าไปแล้วก็ตาม แต่ว่าในส่วนประกอบต่างๆ ของหนังก็ล้วนแล้วแต่มีทฤษฏีทางฟิสิกส์เข้ามารองรับ ทำให้บางอย่างถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ตามทฤษฏี

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้บรรดาเหล่าคอหนังไซไฟ หรือคนที่รักความเป็นหนังอวกาศจึงได้เนื้อเต้นกันตลอดเวลาที่หนังโยนทฤษฏีต่างๆ มาให้ เสมือนเป็นห้องเลคเชอร์ชั้นดี ที่ให้ความรู้กับสมองน้อยๆ อันนี้ ควบคู่ไปกับการสร้างความบันเทิงได้อย่างเต็มเปี่ยมมากๆ นับตั้งแต่ในพาร์ทของครอบครัวที่มีการปูเรื่องในช่วงแรกออกมาได้ดี ให้เราได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพ่อ ลูกในเรื่อง และการจากลาอันน่าเศร้าของพวกเขา อีกทั้งหนังยังคงค่อยๆ ประคองมันไปเรื่อยๆ จากการตัดสภาพสลับความสัมพันธ์ของทั้งคู่จากความห่างไกลที่ค่อยๆ กระทบกับความรู้สึกตัวละครที่ผ่านไปหลายปี จนนำมาสู่ดราม่าที่ชวนเสียน้ำตาในช่วงท้ายของเรื่องที่ขยี้ 10 แรงมือมากๆ

นอกจากนี้ในพาร์ทการผจญภัยในอวกาศ หนังก็ออกแบบดาวแต่ละดวงออกมาได้อย่างตระการตา ไม่ว่าจะเป็นดาวที่เต็มไปด้วยน้ำ หรือที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง ก็สร้างสรรค์ออกมาได้เป็นอย่างดี และภารกิจในแต่ละดวงดาวก็มีอะไรที่ชวนลุ้นเป็นอย่างมาก ด้วยการใส่เงื่อนไขตามทฤษฎีของเวลา ที่ทำให้การใช้เวลาบนดาวแต่ละดวงนั้น ผ่านไปไม่เท่ากัน ก็ทำเอายิ่งบีบคั้นภารกิจของตัวละครกันเข้าไปใหญ่ ทำให้ในส่วนของภารกิจที่ชวนลุ้น ก็ยิ่งสอดประสานกับพาร์ทดราม่าการอยากกลับไปหาลูกของตัวละครเอกได้เป็นอย่างดี จนกลายเป็นผสมชั้นดีที่ลงตัวมากๆ ในส่วนข้อติ จริงๆ มันอาจจะมีบ้าง แต่ด้วยประสบการณ์ที่อิ่มเอมหลังได้รับชมแล้ว ก็บอกได้เลยว่า หนังอวกาศอีกเรื่องที่ยากจะหาเรื่องใดมาเทียบได้เลยจริงๆ

เกร็ดจากหนังเรื่องนี้

  • Anne Hathaway เคยประสบปัญหากับสภาวะ Hypothermia หรือ สภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายต่ำกว่า 35 องศา ในขณะถ่ายทำให้ Iceland เนื่องจาก ชุดนักบินอวกาศของเธอนั้นมีช่องเปิดอยู่ในขณะถ่ายทำฉากในน้ำที่เย็นจัด
  • Christopher Nolan ได้กำชับกับ Hans Zimmer นักประพันธ์คู่บุญเอาไว้ในหนังเรื่องนี้ ว่าอยากให้ทำสกอร์ ที่มีความเฉพาะตัว เพราะอยากที่คิดทำอะไรใหม่ๆ บ้างแล้ว พวกกลองใหญ่ๆ เอาออกไปให้หมด ซึ่งตัวเขาเอง ก็ไม่ได้ให้พล็อตหนังหรือบทให้กับ Hans Zimmer ด้วยซ้ำ แต่กลับเป็นกระดาษ 1 ใบเพื่อบรีฟสิ่งที่อยากได้เท่านั้นเอง
  • Steven Spielberg เกือบได้มากำกับหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2006 แล้ว และได้ว่าจ้าง Jonathan Nolan (น้องชายของ Christopher Nolan) มาทำการเขียนบทให้ แต่สุดท้ายเขาก็เปลี่ยนไปใจไปทำหนังเรื่องอื่น จนกระทั่งปี 2012 Jonathan ก็ได้เอาบทตัวนี้มาชักชวนให้กับพี่ชายของเขามากำกับ และก็ได้เป็น Interstellar ในแบบที่เราเห็นในทุกวันนี้