Flee (2022)
ฟลี
คะแนน
โกดังหนัง
แอนิเมชั่นที่ดีสุดแห่งปี 2021 ถ่ายทอดความเจ็บปวดของผู้ลี้ภัยในรูปแบบการ์ตูนผสมผสานกับฟุตเทจจริงๆได้ลงตัว มีความว้าวหนักแน่นในการเล่าเรื่องของคนอพยพเข้าอกเข้าใจพวกเขาจริงๆ
หมวดหมู่ : | Animation |
สัญชาติ : | Danish |
กำกับโดย : | Jonas Poher Rasmussen |
ความยาว : | 1 ชั่วโมง 38 นาที |
นักแสดงนำ : | Behrouz Bigdeli, Rashid Aitouganov |
คำคมจากภาพยนตร์
"When we have had to run away all our lives, it is very hard to learn and dare to trust somebody"
"เมื่อเราต้องหนีมาทั้งชีวิต มันยากเหลือเกิน ที่เราจะเรียนรู้ให้กล้าเชื่อใจใคร"
เรื่องย่อ
แอนิเมชั่นที่ดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่จากบ้านจากเมืองมานานกว่า 30 ปี อามิน นาวาบี (ชื่อสมมติ) หนุ่มชาวอัฟกานิสถานที่ย้อนรำลึกอดีตของเขาในฐานะผู้ลี้ภัยสงครามซึ่งต้องเผชิญความสูญเสียอันซับซ้อน สำหรับเหตุการณ์ช่วงวัยเด็กที่เขายังมีชีวิตสดใสร่าเริงกับครอบครัวในคาบูลนั้น แต่แล้วเมื่ออมูจาฮีดีนยึดอัฟกานิสถานและโจมตีคาบูล ชีวิตอามินก็พลิกผันไปทันที เขาและครอบครัวต้องอพยพลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศบ้านเกิดแยกย้ายกระจัดกระจายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กันในหลายประเทศของทวีปยุโรป โดยต้องผ่านความยากลำบากและเสี่ยงอันตรายต่างๆ นอกจากนี้เขายังเป็น LGBTQ+ โดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัวด้วย การกัดฟันต่อสู้ในฐานะผู้อพยพจากประเทศโลกที่ 3 มันเป็นอะไรที่ยากลำบากเพราะเขาเองต้องยืนหยัดต่อสู้เพียงตัวคนเดียวโดยที่ไว้ใจใครก็ไม่ได้
หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร
สำหรับ Flee เป็นหนังแอนิเมชั่นที่งดงามซึ้งหดหู่น่าสะเทือนใจที่สุดเรื่องหนึ่งที่หยิบยกชีวิตผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานมาเล่าเรื่องให้มีความทันสมัยมีภาษาที่สากล เนื้อหาพูดถึงคนที่ต้องดิ้นรนไร้บ้านที่จะอยู่ต้องแสว่งหาประเทศใหม่ แต่ก็ต้องเผชิญความยากลำบากเพราะเป็นคนอพยพ การเล่าเรื่องผ่านแอนิเมชั่นแบบลายเส้นวาด ที่ผสมผสานไปกับฟุตเทจภาพถ่ายจริงๆ สลับกันไปที่ถือว่าเป็นสร้างอรรถรสได้ดี คนที่หนังที่เล่าถึงประเด็นผู้อพยพผู้ลี้ภัย ประเด็นปัญหาสังคมการเมืองหนังเรื่องนี้เล่าไว้ครบเครื่องมาก พอทำเป็นแอนิเมชั่นเลยมีเสน่ห์มาก ภาพวาดแต่ละช็อตแต่ละเฟรมพิถีพิถันปรับโทนทุกอย่างให้ดูง่ายไม่ดาร์คจนเกินไป คนที่ชอบแอนิเมชั่นดูแล้วคงมีความรู้สึกสะเทือนใจแน่ๆ
- สายหนังสารคดี
- สายหนังแอนิเมชั่น
- สายหนังที่ชอบเรื่องราวที่เป็นความจริง
รีวิว / สรุปเนื้อหา
พอดูจบรู้สึกหดหู่มาก ไม่แปลกใจที่หนังชนะใจนักวิจารณ์จากสื่อทั่วทั้งโลก ปกติหนังภาษาต่างประเทศถ้าเนื้อหาจับต้องไม่ได้ยากจะชนะใจผู้ชม แต่เรื่องนี้มีความเป็นสากลมาก ชายคนหนึ่งที่ไม่รู้ความหมายคำว่าบ้านเป็นผู้ลี้ภัยและต้องดิ้นรนหนีไปตลอดชีวิต หนีจากบ้านเกิดที่อัฟกานิสถานหลังบ้านเกิดเมืองนอนโดนรุกราน หนีหัวซุกหัวซุนเพื่อมีลมหายใจมีชีวิตไปยังแผ่นดินยุโรป แต่เมื่อย่างก้าวในยุโรป พวกเขาพบความจริงที่น่าหดหู่สิ้นหวังพอๆกับตอนหนีออกจากประเทศตัวเอง พวกเขามีสถานะไม่ต่างจากผู้อพยพทั้งที่ไม่ได้ทำความผิดอะไรด้วยซ้ำ แต่โดนตราหน้าราวกับว่าเป็นคนเลวคนทำผิดในประเทศตัวเองยังไงยังนั้น การเดินทางหนีตายของเขาเหมือนคนที่ต้องมีชีวิตเพื่ออยู่รอดไปวันๆ แต่อีกนัยยะพวกเขาก็เหมือนคนที่ตายไปแล้วครึ่งตัว ไร้บ้าน ผลัดพรากจากครอบครัว ไหนจะโดนรังแกทำร้ายร่างกายไถ่เงินเพียงเพราะเป็นคนอพยพ โดนตำรวจในประเทศที่ลี้ภัยไถ่เงินอีก ชีวิตโคตรสิ้นหวังจริงๆ ต้องหนีไปเรื่อยๆต้องจากบ้านจากครอบครัวอยู่ตัวคนเดียว คุยกับใครก็ไม่รู้เรื่องอีกหนักหนาสาหัส มันกลายเป็นรอยร้าวในชีวิต
เราชอบที่หนังเรื่องนี้สร้างสรรค์ในรูปแบบแอนิเมชั่น เน้นความสมจริง โทนสีหม่นครึ้ม ภาพเต็มไปด้วยเงาดำ ผ่านการสัมภาษณ์ อามิน จริงๆ แล้วก็เล่าเรื่องตั้งแต่บ้านเกิดเมืองนอนอัฟกานิสถาน เดินทางไปยังประเทศคอมมิวนิสต์เก่าที่ต้องเดินทางเท้า นั่งเรือ เรียกร้องหาคนช่วยเหลือผู้เอาชีวิตรอด หรือการที่ต้องแยกย้ายจากครอบครัวเพื่ออยู่รอดปลอดภัยและโกหกทางการประเทศอื่นๆ อามิน เองก็เก็บงำความลับและค่อยๆเล่าเรื่องราวออกมาจนหมดเปลือก และมีภาพฟุตเทจจริงๆมาประติดประต่อเรื่องราวให้เราได้เข้าใจเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น มันเลยทำให้เราเห็นภาพผู้ลี้ภัยในประเทศโลกที่ 3 มากขึ้นว่าทำไมพวกเขาถึงหนีตาย เพราะพวกเขาไม่มีอะไรจะเสียแล้วจริงๆ การมีภาพแอนิเมชั่นช่วยทำให้หนังมีลูกเล่นไม่ได้ทำให้บรรยากาศเศร้าแต่ผ่อนคลายอารมณ์หนังให้ผู้ชมแม้ว่าประเด็นในเรื่องจะมีความหนักหน่วงสิ้นหวังน่าเห็นอกเห็นใจ พล็อตเรื่องมีความดาร์คเราได้เห็นอันตรายว่าในโลกแห่งความเป็นจริงมักกลั่นแกล้งผู้ลี้ภัยหากินหาผลประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านี้จนเป็นภาพที่เห็นจนชิ้นตา การเมืองภัยสงครามสร้างบาดแผลให้ผู้คนอัฟกาสถานไม่มีวันจบสิ้น ภาพของหนังเลยอิงกับความจริงมีกลิ่นอายความเป็นหนังสารคดีและหนังที่ให้ดาร์คๆในสไตล์การ์ตูน
อีกจุดหนึ่งที่ชื่นชมคือผู้กำกับเองก็มีความเข้าใจหัวอก อามิน เพราะตัวผู้กำกับอย่าง Jonas Poher Rasmussen ก็มีเชื้อสายอิสราเอล เลยทำให้เขาฉลาดที่จะเล่าเรื่องคนอพยพที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงคาดเดาอะไรไม่ได้ว่าย้ายไปประเทศนี่แล้วจะดีหรือเปล่า ไหนจะเป็นเรื่องการพยายามตีแพร่ตัวต้นอามินแทบทุกประเด็น ไม่ได้โฟกัสแค่หนีตายลี้ภัย แต่ยังสอดแทรกความเป็ LGBT ที่ตัว อามินเองก็ค้นพบว่าตัวเอง เกิดความรู้สึกเหงา เกิดความเบี่ยงเบนทางเพศขึ้นมา ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องผิดแต่เล่าได้เข้าอกเข้าใจอามิน แถมทำให้เรื่องราวมีกลิ่นอาย Coming Of age ลดทอนความซีเรียสจากประเด็นลี้ภัย และทำให้เนื้อหามีน้ำหนักอ่อนโยนลงไป และทำให้ตัวอามินเป็นแบบนี้ เขาไม่หลงเหลือความไว้ใจเชื่อใจอะไรเพราะแวดล้อมเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตที่ต้องหนีมาตลอด จิตใจถูกทำลายยับเยิ่นทำให้ชีวิตในอดีตและปัจจุบันมันกลายเป็นความเศร้าที่นึกถึงทีไรก็สะเทือนใจและกลายเป็นว่ารอยร้าวตรงนี้กว่าจะได้รับการเยียวยาก็ใช้เวลานานพอควรก็จะมีใครสักคนมาโอบกอดและพาเขาหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปได้
เกร็ดจากหนังเรื่องนี้
- Riz Ahmed นักแสดงชื่อดังรับหน้าที่ Executive producers เรื่องนี้
- หนังไปฉายที่ Sundance Film Festival ปี 2021 และได้รางวัล World Cinema Documentary Competition
- เป็นตัวแทนหนังเดนมาร์กปี 2021 ที่ได้เข้าขิงออสการ์ปี 2022 ในสาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
- บอง จุน โฮ ผู้กำกับ Parasite ชอบหนังเรื่องนี้มากถึงขั้นลิสต์ให้เป็นหนังโปรดในดวงใจปี 2021
- หนังคว้า 2 รางวัลหนังแอนิเมชั่นยอดเยี่ยม และ หนังสารคดียอดเยี่ยมจาก European Film Awards ปี 2021