Paycheck (2003)
แกะรอยอดีต ล่าปมปริศนา
คะแนน
โกดังหนัง
หนังแอคชั่นสุดมันส์สไตล์ John Woo กับการประติดประต่อความทรงจำที่หายไป สนุกไปกับการได้เห็นไหวพริบตัวละครในการใช้ของให้ถูกที่ถูกเวลา
คำคมจากภาพยนตร์
“If you love me, if you care about me, go. Have a good life. Remember me.” “ถ้าคุณรักฉัน ถ้าคุณแคร์ฉัน ไปซะเถอะ ไปมีชีวิตที่ดี และจดจำฉันเอาไว้”
เรื่องย่อ
ไมเคิล เจนนิ่งส์ ยอดวิศวกรมือดี ที่ทำหน้าที่คิดค้นออกแบบผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยให้กับบริษัทต่างๆ โดยมีเงื่อนไขว่าหลังงานเสร็จเมื่อใด เขาต้องถูกลบความทรงจำทิ้งในทันที เพื่อไม่ให้องค์ความรู้นี้ตกไปถึงมือของบริษัทคู่แข่ง จนกระทั่งวันหนึ่งที่เขาได้เลือกไปรับโปรเจคใหญ่จาก เร็ธริก ที่มีค่าตอบแทนระดับร้อยล้าน แลกกับความทรงจำที่หายไป 3 ปี ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปแล้วนั้น เขากลับพบว่าตัวเองเพิ่งเซ็นสละสิทธิผลตอบแทนเหล่านั้นไป แต่หลงเหลือสิ่งของที่ดูไม่จำเป็นเอาไว้ให้กับตัวเองแทน ทำให้เขาจึงต้องเริ่มสืบหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากันแน่
หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร
สำหรับ Paycheck นั้น เหมาะสำหรับคนที่ชอบหนังแอคชั่นแต่ยังต้องมีพล็อตเรื่องล้ำๆ ให้ได้ชวนติดตาม เรื่องนี้จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี จากการที่ตัวพล็อตเรื่องก็ได้มาจากคนเขียนนิยายชื่อดัง เพราะฉะนั้นมันมีความล้ำ ชวนติดตามอย่างแน่นอน ในขณะพาร์ทแอคชั่นก็ได้ผู้กำกับสายนี้อย่าง John Woo มาทำ ก็ยิ่งเสริมฉากแอคชั่นเท่ๆ ให้กับตัวละครเข้าไปได้อีก จนนับเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากๆ สำหรับคนที่กำลังมองหาหนังไซไฟฟื้นความจำ เห็นภาพนิมิต แนวๆ นี้ อย่างเรื่อง Total Recall หรือ Next แล้วอยากจะแนะนำ Paycheck เอาไว้ในอ้อมใจอีกสักเรื่อง
- สายหนังแอคชั่นพล็อตล้ำ
- สายหนังตามล่าความทรงจำ
- สายหนังแอคชั่นไขปริศนา
รีวิว / สรุปเนื้อหา
Paycheck เป็นหนังสไตล์พล็อตล้ำอีกเรื่องที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของปี 1953 ในชื่อเดียวกัน จากผลงานการเขียนของ Philip K. Dick เจ้าพ่อนิยายไซไฟ ที่ก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกันที่จะได้เห็น John Woo เอาพล็อตสไตล์นี้มากำกับ เพราะด้วยความเป็นสายแอคชั่น เน้นภาพสโลว์โมชั่น เอาปืนจ่อหัวกันไปมา หรือ พร้อมกับฉากนกพิราบบินสวยๆ ประหนึ่งหนังเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ที่คิดภาพยังไงก็ดูไม่น่าเข้ากับหนังประเภทแอคชั่น ไซไฟ ที่มีพล็อตเรื่องเหนือๆ เอาเสียเลย แต่ปรากฏว่ามันกลับกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวซะงั้น ด้วยความที่มันก็มีพล็อตเรื่องที่เล่าออกมาได้สนุก ประกอบกับฉากแอคชั่นที่ชวนลุ้นมากมาย เลยทำให้ฉากที่ดูเหมือนชวนขำ กลับเพิ่มความมีสไตล์เข้ากับเรื่องราวที่ดูขี้โม้ได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของพล็อตเรื่องนั้นน่าจะเป็นอะไรที่โดดเด่นที่สุด เพราะการได้รับชม Paycheck ครั้งแรกในยุคนั้น สิ่งแรกที่รู้สึกก็คือความเหนือชั้นของเรื่องราว ที่ทำออกมาได้ชวนติดตามมากๆ ว่าเหตุใดตัวเอกจึงต้องตัดสินใจสละเงินทั้งหมดของตัวเองหลังจากลงทุนลงแรงไปกว่า 3 ปี อีกทั้งของที่ทิ้งเอาไว้ให้ตัวเองในแต่ละชิ้นนั้น จะต้องถูกใช้อย่างไร และเมื่อใด ซึ่งในขณะที่ดูก็แอบรู้สึกว่ามันขี้โม้อยู่ไม่น้อย กับการที่ได้เห็นตัวเอกนั้น เลือกใช้ของได้อย่างถูกที่ถูกเวลาเสมอ ทั้งๆ ที่สถานการณ์บางอย่างก็บีบคั้นจนไม่น่าจะเลือกใช้ได้ แต่สุดท้ายแล้วหนังก็มีการเฉลยเหตุผลที่ว่านี้ออกมาให้เราเข้าใจได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าหัวใจสำคัญของ Paycheck จะไม่มีใหม่มากนัก เพราะก็มีหนัง/นิยายไซไฟหลายๆ เรื่องก็หยิบเอาคอนเซปนี้มาเล่นอยู่บ่อยครั้ง แต่มันก็ยังพอมีที่ยืนที่แปลกใหม่ให้กับตัวเอง อาทิ การเตรียมของเอาไว้สำหรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการผสมผสารฉากแอคชั่นในการไล่ล่าไปด้วย ก็ยิ่งเพิ่มดีกรีความมันส์ ลุ้นระทึกให้กับหนังได้เป็นอย่างดี แม้ว่าฉากแอคชั่นของ John Woo อาจจะทำให้หนังดูแปร่งๆ ไปบ้างจากลายเซ็นที่ไม่จำเป็นของเขา แต่โดยภาพรวมมันก็ช่วยเสริมออกมาให้หนังดูสนุกขึ้นมากอยู่ดี จนเป็นอีกหนังพล็อตล้ำบันเทิงที่น่าสนใจมากๆ
เกร็ดจากหนังเรื่องนี้
- จริงๆ แล้วผู้กำกับ John Woo เองไม่ได้ต้องการใส่ลายเซ็นตัวเองเข้าไปในหนังเรื่องนี้ในฉากต่างๆ แต่กลับเป็น Ben Affleck เองที่ขอร้องให้เขาใส่พวนนั้นไปด้วย เนื่องจากเขาเป็นติ่งของหนัง John Woo จากหนังโจวเหวินฟะหลายๆ เรื่อง
- ไม่ต้องแปลกใจที่พล็อตของหนังจะไปละม้ายคล้ายกับ Total Recall ที่ฉากหลังเป็นโลกอนาคตแทน เพราะทั้งสองเรื่องนี้มาจาก Philip K. Dick คนเขียนนิยายคนเดียวกัน