Fight Club (1999)

ดิบ ดวล ดิบ

Fight Club Poster
8/10

คะแนน
โกดังหนัง

หนังที่พาเราปล่อยใจให้ความดิบเถื่อน ความรุนแรง เพื่อเป็นการระบายตัวตน อีกทั้งยังเสียดสีทุนนิยมได้อย่างเจ็บแสบถึงใจ

หมวดหมู่ : Action Drama
สัญชาติ : American
กำกับโดย : David Fincher
ความยาว : 2 ชั่วโมง 19 นาที
นักแสดงนำ : Brad Pitt, Edward Nortan

คำคมจากภาพยนตร์

“We buy things we don’t need with money we don’t have to impress people we don’t like.”
“เราซื้อของที่เราไม่ได้ต้องการด้วยเงินที่เราก็ไม่ได้มี เพื่อสร้างความประทับใจให้กับคนที่เราก็ไม่ได้ชอบ”

เรื่องย่อ

ชายหนุ่มนิรนาม อาชีพพนักงานออฟฟิศที่แสนเบื่อหน่าย กับการใช้ชีวิตซ้ำๆ กันไปวันๆ กระทั่งวันนึงก็เกิดเหตุบ้างอย่าง ที่ทำให้เขาต้องสูญเสียทุกอย่างในชีวิตไป และได้พบกับ ไทเลอร์ เดอร์เดน ชายผู้ที่ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณดิบโดยไม่ยึดติดกับวัตถุและกฏเกณฑ์ใดๆในชีวิต ทั้งคู่ได้มีโอกาสดวลชกต่อยกัน จนชายนิรนามเองก็ได้ระบายตัวเองจากความเครียดที่มี เหมือนพบกับชีวิตใหม่ เลยเอาความรู้สึกนี้ไปจัดตั้งเป็นมวยเถื่อนใต้ดินที่มีชื่อว่า Fight Club ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาร่วมปลดปล่อยด้วยความรุนแรงไปด้วยกัน จนกระทั่งชมรมที่ว่าก็เริ่มขยายขอบเขตไปไกลกว่าที่พวกเขาคิด

หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร

สำหรับ Fight Club นั้น อยากแนะนำให้กับทุกคนที่กำลังรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับชีวิต ที่ยังคงเวียนว่ายอยู่กับการทำสิ่งเดิมๆ ในแต่ละวัน เพราะหนังเรื่องนี้จะโยนความดิบมาให้ เสมือนให้เราได้ระบายอารมณ์ ปลดปล่อยความคับแค้นใจต่อระบบทุนนิยมที่กดขี่เราอยู่ แต่คุณจะมองหนังไปได้ไกลขนาดไหนนั้นส่วนนึงอาจจะอยู่ที่สกิลการตีความ รวมถึงประสบการณ์ของตัวเอง เพราะส่วนตัวแล้ว การดู Fight Club แต่ละครั้งในชีวิตของตัวเอง ก็ยังได้มุมมองและอะไรใหม่ๆ กลับมาทุกครั้ง ซึ่งหากชอบหนังสไตล์ยียวนลึกซึ้งแบบ Pulp Fiction หรือหนังสไตล์เข้มๆ ของผู้กำกับอย่าง Seven มาก่อนหน้านี้แล้ว เราคงยื่น Fight Club ให้ได้ดูต่อด้วยความเต็มใจ

  • สายหนังเสียดสีสังคม
  • สายหนังแอคชั่นต้องตีความ
  • สายหนังดราม่าเข้มข้น

รีวิว / สรุปเนื้อหา

หนังของผู้กำกับสายละเอียดสุดเนี้ยบในทุกรายละเอียดอย่าง David Fincher ที่ยังคงเน้นในเรื่องคุณภาพในงานตัวเองอีกเช่นเคย แต่ด้วยความที่หนังค่อนข้างมีประเด็นเรื่องราวที่ลึก และต้องอาศัยการตีความอยู่ไม่น้อย เลยทำให้กระแสของหนังที่ออกมาในช่วงแรก จึงแตกออกเป็นสองเสี่ยงอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยกลุ่มที่เข้าใจและสนุกไปกับประเด็นของหนังก็จะรักหนังเรื่องนี้ จนอยากจะลองซัดหน้าใครสักคนดูบ้างหลังดูหนังจบ แต่กับอีกกลุ่มที่เกลียดหนังเรื่องนี้เอาซะมากๆ เพราะรู้สึกว่ามันต้องคอยมานั่งตีความสัญลักษณ์ต่างๆ ในหนังที่เข้าใจยากซะเหลือเกิน แต่เผอิญว่าเราดันอยู่กลุ่มที่ชอบมันมากกว่า รีวิวนี่เลยจะไปทางเชียร์ว่าทำไมมันถึงเป็นหนังที่มีคุณภาพดีในสายตาของเรา

ส่วนนึงเลยแม้ว่าสิ่งที่ฉาบหน้าหนังจะเป็นในเรื่องของความ ดุ เดือด ดิบ เอาความสะใจ กับการตั้ง Fight Club และความเท่ของตัวละคร บทพูด รวมถึงกฏที่คนยังมักเอามาใช้พูดถึงมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “กฏข้อแรกของ Fight Club ก็คืออย่าพูดถึง Fight Club” แต่ในเนื้อแท้ของหนังแล้วกลับพูดถึงระบบทุนนิยมได้อย่างเจ็บแสบ สะเทือนไปถึงทรวงในคนดูอยู่ไม่น้อย การต่อสู้ใน Fight Club จึงไม่ต่างอะไรกับการระบาย ความคับข้องใจที่มีต่อระบบทุนนิยมที่ต่างกฏขี่พวกเขาให้ไม่มีชีวิตที่อิสระเป็นของตัวเอง และการซัดกันเน้นๆ ด้วยหมัดต่อหมัดของทุกคืนก็คือช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยเพื่อที่จะกำหนดโชคชะตาของตัวเองได้ แล้วหลีกหนีจากชีวิตที่ซ้ำซากจำเจที่เกิดขึ้น

สุดท้ายแล้วหนังก็พาเราไปได้ไกลกว่าจากการต่อยตีจากแค่ใน Fight Club สู่การแสดงออกถึงการต่อต้านทุนนิยมกันแบบสุดซอย สู่ Project Mayhem แม้ว่าคนดูส่วนมากจะเห็นด้วยกับหนังและสะใจไปกับการระบายความคับคั่งใจไปกับระบบทุนนิยมมากสักแค่ไหน แต่สุดท้ายเราเองก็ไม่สามารถปฏิเสธกับการเวียนว่ายอยู่ในระบบของทุนนิยม ทำงานสภาพเดิมๆ ไปทุกวันเพื่อหาเงินมาซื้อของให้ทันยุคทันสมัย ใช้โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ไปเที่ยว เผื่อถ่ายรูปอวดใครๆ ว่าเราใช้ชีวิตอย่างไรให้ได้น่าอิจฉา ให้กับคนที่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้สนใจเขาเท่าไรนัก เหมือนอย่างที่ตัวละครในหนังได้กล่าวเอาไว้อยู่ดี ทำให้ฟิลลิ่งตอนดูไปก็จุกไปกับความจริงที่เข้ามากระแทกหน้าอยู่ตลอดเวลา

เกร็ดจากหนังเรื่องนี้

  • Chuck Palahniuk เจ้าของนิยายต้นฉบับของ Fight Club ได้ออกมาเล่าถึงไอเดียจากนิยายเรื่องนี้ ถึงเหตุการณ์ที่เขาได้ไปตั้งแคมป์ และบ่นกับคนกลุ่มหนึ่งที่เปิดวิทยุเสียงดัง แต่ผลที่กลับมาคือโดนกระทืบ… เมื่อกลับมาทำงานนั้น ก็แปลกใจที่ไม่มีใครถามถึงอาการบาดเจ็บอะไรของเขาเลย เขาจึงตั้งคำถามว่ามันเพราะอะไรกันนะ แล้วก็พบว่าคงเป็นเพราะบรรดาเพื่อนร่วมงานของเขาไม่ได้สนใจที่สานสัมพันธ์กับเขามากไปกว่าแค่เพื่อนร่วมงานธรรมดาๆ คนหนึ่ง จนเป็นที่มาของกลไกการป้องกันตัวเองจากการเข้าสังคมที่ไม่ได้สนใจอะไรในคนรอบข้าง จนกลายต้นฉบับเรื่องนี้
  • Brad Pitt และ Helena Bonham Carter ใช้เวลาถึงสามวัน ในการอัดเสียงการมีเพศสัมพันธ์ ที่ไม่เห็นภาพในหนัง
  • เพื่อเตรียมตัวรับบทที่มีฉากต่อสู้มือเปล่านั้น ทั้ง Edward Norton และ Brad Pitt ต่างเข้าคลาสทั้งมวยไทย เทควันโด และอื่นๆ เพื่อให้ฉากต่อสู้นั้นดูเป็นการดวลกันดิบจริงๆ