มหาลัย เหมืองแร่ (2005)

มหา'ลัย เหมืองแร่

มหาลัย เหมืองแร่ Poster
9/10

คะแนน
โกดังหนัง

ภาพยนตร์ไทยทรงคุณค่าที่ขึ้นมรดกแห่งชาติไปแล้ว
เนื้อหายอดเยี่ยมสื่อถึงชีวิตที่เรียบรู้นอกตำรา ประสบการณ์ชีวิตคือสิ่งที่คุ้มค่าแล้ว

หมวดหมู่ : Biography Drama
สัญชาติ : ไทย
กำกับโดย : จิระ มะลิกุล
ความยาว : 1 ชั่วโมง 55 นาที
นักแสดงนำ : พิชญะ วัชจิตพันธ์, สนธยา ชิตมณี

คำคมจากภาพยนตร์

"เอาผมไปฆ่าให้ตาย ผมก็รักคุณ"

เรื่องย่อ

เรื่องจริงที่ดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่ออกมาหาประสบการณ์ชีวิตในขณะที่ 22 ปี หลังโดดรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศและมุ่งหน้ามาหาประสบการณ์ชีวิตที่เหมืองดีบุกในอำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มันเป็นการค้นหาโลกอีกใบที่เขาไม่เคยสัมผัสในตำราเรียน โชคดีที่เขาเรียนวิศวะมาทำให้เข้าใจภาษาอังกฤษและสื่อสารกับนายหัวเจ้าของแร่จนได้รับความไว้วางใจ มันคือการเรียนรู้ชีวิตจริงที่เราไม่สามารถไปหาที่ไหนได้เลย

หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร

 สำหรับ มหา’ลัย เหมืองแร่  เป็นหนังที่เหมาะสำหรับคนที่ชอบเรืื่องราวที่เกี่ยวกับชีวประวัติบุคคลสําคัญ หนังดัดแปลงจากหนังสือที่เล่าให้เห็นชีวิตการต่อสู้ที่ยากลำบากของคน ที่ต้องเจอบททดสอบชีวิตที่แปลกใหม่แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยเผชิญหน้ามา อารมณ์ภาพจะสื่อสารออกมาดูเป็นธรรมชาติกว่าหนังไทยในท้องตลาด บวกกับการแสดงของ พิชญะ วัชจิตพันธ์ แบกเนื้อหาไว้ได้ยอดเยี่ยม สอดแทรกมุมมองใช้ชีวิตที่ไม่ได้อิงตำราเรียนไว้ได้คมคายเนื้อหาค่อนข้างสมจริงมาก

  • สายหนังดราม่า
  • สายหนังรางวัล
  • สายหนังชีวประวัติบุคคลสำคัญ

รีวิว / สรุปเนื้อหา

หน้าหนังอาจไม่ดึงดูดใจคนไทย พระเอกหน้าใหม่ในตอนนั้น ไม่ใช่ดาราบิ๊กเนมมาเป็นคนนำเรื่อง หนังไม่มีนางเอก เนื้อหาไม่มีความรัก เน้นความจริงประสบการณ์ชีวิตซึ่งตรงนี้แหละคือสิ่งที่ดีงามและเราคงหาไม่เจอแน่ๆจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ การเล่าเรื่องทำให้คนได้รู้จักตัวตน อาจินต์ ปัญจพรรค์ เด็กหนุ่มจากเมืองหลวงที่มาทำงานเป็นกรรมกรเหมืองแร่ แถมยังได้เสียงตัวจริงมาบรรยายให้อีก ทำให้ได้เนื้อเรื่องที่ดูจริงจัง ภาษาสระสลวย ในแต่ละประเด็นที่เขาไปสัมผัสมาในแต่ละเหตุการณ์แต่ละชั้นปี แวดล้อมใหม่ ภาษาที่ไม่คุ้นเคย คนมากหน้าหลายตาที่สบประมาทในตัวเขา ว่าง่ายๆคือประสบการณ์ชีวิตที่มาฝึกสอนให้เขาได้รู้จักกับความรับผิดชอบ ความอดทน ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ได้เรียนรู้มิตรภาพจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งหาไม่ได้จากมหาวิทยาลัย

หนังเล่าเรื่องได้ละมุนละไม ตั้งแต่งานสร้าง บทภาพยนตร์ นักแสดง งานภาพ งานตัดต่อ ทุกอย่างลงตัว หนังให้แง่คิดเตือนสติคนเราได้อย่างคมคาย การปรับตัวในการทำงานคือสิ่งสำคัญ เรียนรู้เข้าใจผู้อื่นที่เราต้องไปทำงานด้วย ทำให้เด็กเมืองกรุงได้เข้าใจชีวิตคนเหมืองที่ยากลำบาก หนังปรุงแต่งให้เป็นธรรมชาติเหมือนไปสัมผัสช่วงเวลาปี 2492 เราได้เห็นวัฒนธรรมแบบคนใต้ การทำงานเหมืองแร่ที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร ในยุคก่อนอยู่ในสภาพทุลักทุเลยากลำบาก สภาพอากาศทางใต้ฝนตกชุก เต็มไปด้วยโคลน ชีวิตก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งตัวหนังทำหน้าที่ได้ดีงาม มีเพลงประกอบที่บรรเลงให้เข้าถึงอารมณ์ดราม่ายุคเก่า ที่ดูจริงจังสร้างประสบการณ์ร่วมให้แก่ผู้ชมมากๆ มันทำให้เราได้เข้าใจเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของอาจินต์ ณ เหมืองแร่และทำให้เขามีแรงบันดาลใจจนกลายเป็นนักเขียนดังในเวลาต่อมา

ชื่นชมการเลือกนักแสดงนำที่โนเนมในเวลานั้น พิชญะ วัชจิตพันธ์ เราคิดว่าอินเนอร์ความเป็นธรรมชาติของคน มันจะมาจากตัวตนจริงๆไม่ต้องมาปรุงแต่งอะไร ทำให้เขาสวมบทบาท อาจินต์ได้เลย ความใส่ซื้อออกมาเต็มที่ แสดงให้เห็นภาพของชายหนุ่มที่เข้าใจโลกใบใหม่ ที่เขาไม่มีวันเจอแน่ๆ อยู่กับชาวบ้าน บรรยากาศดูเถื่อน แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความสุข ตัวละครดูจะท้อแท้สิ้นหวัง แต่ความรู้ความสามารถที่มีกลับซื้อใจเพื่อนร่วมงาน เจ้านายจนทำให้เขาได้เป็นหัวหน้า พูดเลยว่า พิชญะ สอบผ่านมากกับบทบาทนี้

เกร็ดจากหนังเรื่องนี้

  • ผลงานการกำกับเรื่องสุดท้ายของจิระ มะลิกุล ก่อนจะผันตัวมาเป็นโปรดิวเซอร์หนังเต็มตัว
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ในปี พ.ศ. 2556
  • อาจินต์ ปัญจพรรค์ ไม่ขายลิขสิทธิ์เรื่องนี้เพื่อมาสร้างเป็นหนัง แต่ยอมขายให้ จิระ มะลิกุล
  • อาจินต์ ปัญจพรรค์ มาดูการถ่ายทำหนังเรื่องนี้เพราะเขาอยากแน่ใจว่าหนังจะไม่ถูกสร้างเป็นหนังแอ็คชั่น